BEM ลงศึกชิงรถไฟฟ้าสาย “สีส้ม-สีม่วงใต้” พร้อมลุย จุดพักรถ-สื่อโฆษณาทางด่วน

BEM โกยรายได้ปี’62 กว่า 1.6 หมื่นล้าน กำไรพุ่ง 5.4 พันล้าน ผนึก ช.การช่าง ชิงรถไฟฟ้าสาย “สีส้ม-สีม่วงใต้” ดัน BMN ลุย “จุดพักรถ-สื่อโฆษณาทางด่วน” 

นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) กล่าวในการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี 2563 วันที่ 20 ก.ค. ในปี 2562 มีรายได้รวม 16,107 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 492 ล้านบาท คิดเป็น 3.2% และกำไรสุทธิ 5,435 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 118 ล้านบาท คิดเป็น 2.2%

 

แยกเป็นรายได้จากธุรกิจทางด่วน 10,302 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 128 ล้านบาท คิดเป็น 1.3% จากการเติบโตของการใช้บริการทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกตะวันตก ส่วนรายได้จากธุรกิจระบบรางอยู่ที่ 5,022 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 286 ล้านบาท คิดเป็น 6% จากการเพิ่มขึ้นของค่าโดยสารช่วงส่วนต่อขยายที่เปิดบริการ และรายได้จากการบริหารธุรกิจเชิงพาณิชย์ 783 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 73 ล้านบาท คิดเป็น 11.1%

 

ด้านฐานะทางการเงิน ณ สิ้นปี 2562 มีสินทรัพย์รวม 111,697 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.6% จากงานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย และมีหนี้สิน 72,874 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.8% จากเงินกู้ที่ใช้ก่อสร้างสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย

ทั้งนี้บริษัทสามารถยุติข้อพิพาทสัมปทานทางด่วนกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้เซ็นสัญญาเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2563 ทำให้สัญญาทางด่วน 3 เส้นทาง ได้แก่ ทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน A, B, ทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน C, D และทางด่วนอุดรรัถยา (บางปะอิน-ปากเกร็ด) หมดอายุพร้อมกันปี 2578 และเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย 2 เส้นทาง ได้แก่ ช่วงหัวลำโพง-หลักสอง และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ทำให้ฐานรายได้ของบริษัทมั่นคงขึ้น

 

นายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล กรรมการบริหาร BEM กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 กระทบกับบริษัทน้อย ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มมาตรการในประเด็นการรักษาความสะอาดมากกว่า เพราะโครงการที่มีในขณะนี้อย่างสายสีน้ำเงินก็เปิดบริการครบโครงข่ายแล้ว

 

ส่วนค่าโดยสารรถไฟฟ้าได้รับผลกระทบบ้าง ช่วงก่อนเปิดส่วนต่อขยายทั้ง 2 ช่วงอยู่ที่ 7-8 ล้านบาท/วัน และคาดการณ์เมื่อเปิดส่วนต่อขยายรายได้เพิ่มเป็น 10-12 ล้านบาท/วัน แต่มีโควิด-19 ทำให้รายได้ในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้หายไป 80-90% หรือ 2-3 ล้านบาท/วัน จากมาตรการ social distancing ของรัฐบาล

และเมื่อเริ่มผ่อนคลายมาตรการ ตอนนี้ยอดผู้โดยสารทยอยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 300,000 เที่ยวคน/วัน คิดเป็น 70-80% ของจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการในช่วงปกติ ขณะที่ทางด่วนผู้ใช้ทางลดลงกว่า 50% แต่ตอนนี้ตัวเลขกลับมา 100%

ด้านการดำเนินงานของบริษัทลูก บจ.แบงคอก เมโทร เน็ทเวิร์คส์ (BMN) จะขยายธุรกิจเพิ่ม หลังยุติข้อพิพาทร่วมกับ กทพ.ทำให้ BEM พัฒนาป้ายโฆษณาและจุดพักรถ (rest area) บนทางด่วนได้ จึงมีแนวคิดจะให้ BMN เข้าพัฒนาพื้นที่ ปลายปีนี้จะเห็นความชัดเจน”

เตรียมประมูล 2 โครงการ

นายพงษ์สฤษดิ์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ BEM ยังเตรียมเข้าประมูลโครงการของรัฐบาลในครึ่งปีหลัง โดยร่วมกับ ช.การช่าง บริษัทแม่ มี 2 โครงการคือ รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กม. วงเงิน 124,959 ล้านบาท และสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงิน 142,789 ล้านบาท ที่รัฐจะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน PPP net cost

“สายสีม่วงใต้อยู่ระหว่างที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เร่งรัดเปิดประกวดราคา ศึกษารูปแบบ PPP การเดินรถ คาดว่าจะประมูลงานโยธาปีนี้ ส่วนงานเดินรถน่าจะเป็นปีหน้า”

 

วันที่ 30 กรกฎาคม 2563

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ



 

ความคิดเห็น