อนุมัติ ปรับปรุงภูมิทัศน์ "สะพานด้วน" ผลพวงจากรถไฟฟ้าสายแรกที่คนไทยไม่เคยได้ใช้

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. เสนอขอความเห็นชอบผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจำปี โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ทางสัญจรบนโครงสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณช่องกลางสะพานพระปกเกล้า (สะพานด้วน) ระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี (ระหว่างปี “61-62) 129.61 ล้านบาท 


 

“สะพานด้วน” ตั้งอยู่ระหว่างสะพานพระปกเกล้า

 

โครงการนี้จะปรับปรุงโครงสร้างเดิมของรางรถไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ให้กลายเป็นสวนสาธารณะทางเดินข้ามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เชื่อมการสัญจรฝั่งธนบุรีเข้ากับ ฝั่งพระนคร โดยออกแบบลิฟต์ และทางจักรยานเพิ่ม ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย กรมทางหลวง กรมเจ้าท่า เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

จากนั้น ที่ประชุมได้ร่วมกันตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการออกแบบพื้นที่ใช้สอยของโครงการ โดยขอให้ กทม.คำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก และควรทำทางลาดเพื่อให้จูงจักรยานข้ามไปยังอีกฝั่งได้ จากนั้นที่ประชุมสภา กทม.มีมติเห็นชอบ โดยจะส่งฝ่ายบริหารเพื่อดำเนินการต่อไป

ด้านนายนิรันดร์ ประดิษฐกุล สมาชิกสภา กทม. เสนอญัตติขอให้ กทม.ทบทวนการอนุญาตให้ใช้สถานที่ภายในสวนสาธารณะ จัดกิจกรรมที่ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของการใช้สวนสาธารณะ ขณะที่นายพรเทพ ศิริวนารังสรรค์ สมาชิกสภา กทม. เสนอญัตติขอให้ กทม.ปรับปรุงการบริหารจัดการด้านการสาธารณสุข เนื่องจากการอำนวยการด้านการแพทย์สาธารณสุข ทั้งระดับ กทม.และระดับเขตยังขาดเอกภาพการบริหารจัดการ โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับทั้ง 2 ญัตติ และส่งให้ฝ่ายบริหารดำเนินการต่อไป

 


ประวัติ”สะพานด้วน”

 

–  หากคุณใช้เส้นทางสะพานพุทธและสะพานพระปกเกล้าอยู่บ่อยๆ คุณต้องเคยเห็นตอม่อที่ตั้งอยู่กึ่งกลางสองสะพานนี้ ซึ่งนั่นเป็นเศษซากเดียวของโครงการรถไฟฟ้าลาวาลินที่ยังเหลืออยู่

–  ‘ลาวาลิน’ คือชื่อของบริษัทเจ้าของโครงการสัญชาติแคนาดา กับการสร้างรถไฟฟ้าจำนวน 3 เส้นทาง ระยะทางกว่า 61 กิโลเมตร ซึ่งครอบคลุมทุกมุมของกรุงเทพฯ เข้าด้วยกันอย่างสมบูรณ์แบบที่สุด!

–  หาก ‘ลาวาลิน’ ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2529 ตามแผน เราจะเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีรถไฟฟ้าใช้เลย

ลาวาลินเริ่มต้นโครงการโดยการศึกษาแผนแม่บทในการก่อสร้าง ในช่วงสมัยรัฐบาลของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 และมีแผนก่อสร้างให้แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2529 แต่ระยะเวลาในการทำงานนั้นยืดเยื้อเป็นอย่างมาก เพราะต้องรอถึง 11 ปีให้หลังจากการศึกษาแผนแม่บทจึงจะเกิดการลงนามเซ็นสัญญาการก่อสร้างในปี พ.ศ. 2533

“รถไฟฟ้าลาวาลินถูกระงับลงไปด้วยสองสาเหตุหลักคือ หนึ่ง มีปัญหาต่อเนื่องมาจากโครงการขนส่งสาธารณะอื่นๆ อีกสองโครงการก่อนหน้า และ สอง เกิดจากความผิดปกติของสัญญาที่ไม่ชอบมาพากล”

เนื้อความจากหนังสือ Building Social Capital in Thailand: Fibers, Finance and Infrastructure (โดย Danny Unger, 1998) กล่าวถึงการหยุดชะงักของโปรเจกต์รถไฟฟ้าลาวาลินในกรุงเทพเมื่อปี 2535

 

ก็ถือว่าเป็นบทเรียนหนึ่งสำหรับการพัฒนาของเมืองไทย ที่มักมีอุปสรรคจากความไม่โปร่งใสต่างๆนาๆ หากเราไม่มีปัญหาเหล่านี้ ก็จินตนาการไม่ออกเลยว่าบ้านเมืองจะเจริญและสะดวกสบายไปมากขนาดไหน สิ่งที่เราทุกคนทำได้ คือแค่เรียนรู้และอย่าปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยอีก อยู่กับปัจจุบัน แล้วร่วมกันพัฒนาและแก้ไขจากสิ่งต่างๆที่มีอยู่ไปด้วยกัน ส่วนรถไฟฟ้าก็คงต้องอดใจรอกันต่อไป จนกว่าจะถึงวันที่แล้วเสร็จสมบูรณ์ในอนาคต

 

ที่มา: Urban Living , Thairaththestandard



 

ความคิดเห็น