สรุปสาระประชุม EEC เพิ่มเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย รองรับลงทุน 1.1 ล้านล้านบาท และผลกระทบเกี่ยวกับธุรกิจอสังหาฯ ปี 2561

จากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กนศ.) โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2561 สรุปสาระสำคัญการประชุม ดังนี้


 

ความก้าวหน้าการดำเนินงาน

1.1 ร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. … : คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ. เสร็จแล้วทุกมาตรา เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 61 และคาดว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติจะพิจารณาแล้วเสร็จ ภายใน ก.พ. 61

1.2 การลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ EEC : การขอรับการส่งเสริมการลงทุนใน EEC ในปี 2560 รวมเป็นเงินลงทุน 296,890 ล้านบาท โดยปี 2561 มีเป้าหมายการลงทุน 300,000 ล้านบาท (เทียบกับ 199,327 ล้านบาท ในปี 2559) โดยร้อยละ 84 เป็นการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีสูง คิดเป็น 84% ของอุตสาหกรรมทั้งหมด

นอกจากนั้น คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ EEC เพิ่มเติม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 61 เป็นต้นไป ได้แก่

–  1.2.1 เขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษ เช่น เมืองการบินภาคตะวันออก ได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมในการยกเว้นภาษีนิติบุคคล เพิ่มอีก 2 ปี รวมแล้ว 8 ปี และลดหย่อนภาษีนิติบุคคล 50% เพิ่มอีก 5 ปี โดยมีเงื่อนไขต้องฝึกอบรมพนักงานมากกว่า 10% ของพนักงานทั้งหมด หรือ มากกว่า 50 คน

–  1.2.2 เขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้รับสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีนิติบุคคล 50% เพิ่มอีก 5 ปี จากเกณฑ์ปกติ โดยมีเงื่อนไขต้องฝึกอบรมพนักงานมากกว่า 10% ของพนักงานทั้งหมด หรือ มากกว่า 50 คน

–  1.2.3 เขตพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม หรือ เขตอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC ได้รับสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีนิติบุคคล 50% เพิ่มอีก 3 ปี จากเกณฑ์ปกติ โดยมีเงื่อนไขต้องฝึึกอบรมพนักงานมากกว่า 5% ของพนักงานทั้งหมด หรือ มากกว่า 25 คน

1.3 การพัฒนาบุคลากรใน EEC ตามมติ กนศ. ครั้งที่ 3/2560 : สืบเนื่องจาก คณะกรรมการนโยบายฯ ได้อนุมัติร่างแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาบุคลากรฯ โดยประชาชนในพื้นที่เห็นด้วยกับแนวทางการพัฒนาด้านพัฒนาบุคลากร ที่ต้องสร้างเยาวชนให้มีความรู้ตรงความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นหลัก และขณะนี้ มีการทำงานร่วมกันในทิศทางเดียวกันของหน่วยงานและสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้องทุกระดับ

นอกจากนั้น สงป. และ สกรศ. ได้ร่วมกันปรับปรุงรายละเอียดโครงการที่จำเป็นเร่งด่วนตามวัตถุประสงค์การพัฒนาบุคลากรใน EEC โดยปรับลดเหลือ 15 โครงการ วงเงิน 589 ล้านบาท

 

ประกาศเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายเพิ่มเติมอีก 19 แห่ง

คณะกรรมการฯ เห็นชอบการประกาศเขตส่งเสริมนิคมอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้ง 19 แห่ง ซึ่งมีหลักเกณฑ์การจัดตั้งเขตส่งเสริมครบถ้วนแล้ว ทำให้พื้นที่ใหม่รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายอีก 26,200 ไร่ และประมาณว่า จะรองรับการลงทุนได้กว่า 1.1 ล้านล้านบาท ภายในปี 10 ปีข้างหน้า

เขตส่งเสริมนิคมอุตสาหกรรมเป้าหมาย จำนวน 19 แห่ง ประกอบด้วย จ.ระยอง จำนวน 6 แห่ง, จ.ชลบุรี จำนวน 12 แห่ง และ จ.ฉะเชิงเทรา จำนวน 1 แห่ง นิคมอุตสาหกรรมเหล่านี้ผ่านการศึกษาสิ่งแวดล้อมและเปิดดำเนินการอยู่แล้ว แต่ยังมีที่ดินที่เหลืออยู่ ดังนั้น การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายใน EEC จึงไม่จำเป็นต้องนำที่ดินอื่น ๆ นอกเขตนิคมอุตสาหกรรมมาประกอบอุตสาหกรรม

 

คุณสมบัติและเงื่อนไขของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอากาศยานใน EEC

สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ร่วมกับ สกรศ. กำหนดคุณสมบัติของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอากาศยานที่เป็นนิติบุคคล ที่มีผู้มีสัญชาติไทยน้อยกว่าร้อยละ 51 ทั้งนี้ เพื่อประสิทธิภาพในการดำเนินการและสนับสนุนการสร้างคลัสเตอร์อุตสาหกรรมอากาศยานให้เกิดขึ้นใน EEC ดังนี้

1.  ต้องเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทย

2. มีสำนักงานตั้งอยู่ในราชอาณาจักรไทย

3. มีสถานประกอบการตั้งอยู่ในเขตส่งเสริมของพื้นที่ EEC

4. มีวัตถุประสงค์เพื่อการผลิตอากาศยาน หรือ ส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน หรือ หน่วยซ่อมอากาศยาน

5. ได้รับหรือมีสิทธิในใบรับรองแบบอากาศยาน หรือ ส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานที่ประสงค์จะผลิต (เฉพาะกรณีที่จะผลิต)

6. มีขีดความสามารถที่จะผลิตอากาศยาน ส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน ตามใบรับรองแบบ หรือ มีขีดความสามารถในการซ่อมบำรุงอากาศยาน

7. มีการควบคุมภาพการผลิต หรือ การซ่อม

เงื่อนไขประกอบการพิจารณา จะมีการพิจารณาเงื่อนไขในการพิจารณา 2 เรื่อง คือ ระดับเทคโนโลยีสำคัญที่ต้องการในการพัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยานของไทย และแผนในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการพัฒนาบุคลากรไทย

 

แผนปฏิบัติการโครงสร้างพื้นฐานรองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

ที่ประชุมเห็นชอบร่างแผนการปฏิบัติการโครงสร้างพื้นฐาน ที่จัดทำโดย คณะอนุกรรมการโครงสร้างพื้นฐานฯ (ผู้อำนวยการ สนข. เป็นประธาน) โดยให้เพิ่มเริ่มดิจิทัลและวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แผนปฏิบัติการฯ นี้ มีสาระสำคัญ 2 ประการ

1.1 มุ่งพัฒนาโลจิสติกส์แบบไร้รอยต่อ เชื่อมโยงทั้งทางบก น้ำ อากาศ ในพื้นที่ EEC และพื้นที่ใกล้เคียง

–  1.1.1 ให้ EEC เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่น่าอยู่อาศัยแห่งหนึ่งของภูมิภาคเอเชีย

–  1.1.2 ให้ EEC เชื่อมต่อกับกรุงเทพฯ ได้อย่างสมบูรณ์ รวมกันเป็นมหานครขนาดใหญ่ ลดความแออัดของกรุงเทพฯ ในอนาคต โดยประชาชนสามารถเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ และ EEC เข้าสู่กรุงเทพฯ ใน 1 ชั่วโมง ด้วยรถไฟความเร็วสูง และมีสนามบินอู่ตะเภาเสมือนเป็นสนามบินหลักแห่งที่ 3 ของกรุงเทพฯ ช่วยผ่อนคลายความคับคั่งของสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ

1.2 เพื่อให้เกิดผลในการปฏิบัติ แผนนี้ประกอบด้วย โครงการระยะสั้น-กลาง-ยาว 168 โครงการ ในกรอบวงเงินประมาณ 1 ล้านล้านบาท และประมาณว่า การลงทุนจะเป็นเงินงบประมาณร้อยละ 30 งบลงทุนรัฐวิสาหกิจร้อยละ 10 และรัฐร่วมทุนเอกชน (PPP) ร้อยละ 60

 

แผนปฏิบัติการการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

ที่ประชุมเห็นชอบแผนปฏิบัติการฯ ที่จัดทำโดย คณะอนุกรรมการการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวฯ (ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธาน) แผนปฏิบัติการนี้ มีสาระสำคัญ 2 ประการ

1.1 มุ่งยกระดับคุณภาพการท่องเที่ยวใน EEC สู่การท่องเที่ยวระดับโลกอย่างยั่งยืน รองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี กลุ่มท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ กลุ่มครอบครัวและนักธุรกิจเพิ่มขึ้น ประมาณว่า ใน 4 ปี เมื่อระบบคมนาคมเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวสมบูรณ์ขึ้น

–  1.1.1 จะมีนักท่องเที่ยวใน EEC เพิ่มขึ้นเป็น 47 ล้านคน จาก 30 ล้านคน ในปัจจุบัน

–  1.1.2 ประชาชนได้รายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 5 แสนล้านบาท จาก 3 แสนล้านบาท ในปัจจุบัน

1.2 เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติแผนฯ นี้ จึงได้เสนอโครงการภายใต้แผนฯ 53 โครงการ ในกรอบวงเงินกว่า 30,000 ล้านบาท เป็นเงินงบประมาณร้อยละ 25 งบลงทุนรัฐวิสาหกิจร้อยละ 1 และรัฐร่วมทุนเอกชน (PPP) ร้อยละ 74

 


ผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไทย ปี 2561 จากโครงการ EEC

 

โครงการ EEC โครงการพัฒนาพื้นที่รูปธรรมตามแนวทางไทยแลนด์ 4.0 ตัวผลักดันสำคัญสร้าง S Curve ใหม่ให้กับประเทศไทย ด้วยกรอบการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก อสังหาไทย อาทิ พัฒนาโครงการพื้นฐาน เขตส่งเสริมอุตสาหกรรม พัฒนาบุคลกรการศึกษา วิจัยและเทคโนโลยี ส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว การพัฒนาเมื่องใหม่ เป็นต้น ซึ่งความคืบหน้า 5 โครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ดังนี้

– รถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน (ดอนเมือง , สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา) จะเริ่ม TOR ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 (คาดว่าโครงการจะเปิดบริการปี 2566)

– ท่าอากาศยานอู่ตะเภา จะเริ่ม TOR ในเดือนกรกฎาม 2561 (คาดว่าโครงการจะเปิดบริการปี 2566)

– ศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) จะเริ่ม TOR ในเดือนมีนาคม 2561 (คาดว่าโครงการจะเปิดบริการปี 2564)

– ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เริ่มทำ TOR สิงหาคมปี 61 (คาดว่าโครงการจะเปิดบริการปี 2568)

– ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 เริ่มทำ TOR มิถุนายนปี 61 (คาดว่าโครงการจะเปิดบริการปี 2567)

 

พร้อมร่างพระราชชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก คาดว่าจะประกาศใช้ในไตรมาส 1 ปี 2561 นี้

 

ที่มา: terrabkk

ความคิดเห็น