อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ยกระดับมาตรฐานการก่อสร้าง ร่วมต้านฝุ่นจิ๋ว PM 2.5

ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ด PM 2.5 โจมตีไม่ทันตั้งตัวหลังจากฟื้นตัวจากโควิด-19 ในรอบแรก และเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คนทั่วไปมากขึ้นล่าสุด “บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์” เจ้าตลาดโครงการห้องชุดติดรถไฟฟ้า มองข้ามช็อตบริษัทไม่ใช่แค่ผู้พัฒนาหรือผู้สร้างที่อยู่อาศัยเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องมีส่วนร่วมตระหนักถึงปัญหานี้ด้วย

 ปฏิบัติการ CEO ร่วมต้านฝุ่นจิ๋วโดย “ชานนท์ เรืองกฤตยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ระบุว่า ฝุ่น PM 2.5 เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิตของประชาชนทั่วกรุงเทพ-ปริมณฑลถือเป็นเรื่องสำคัญดังนั้น อนันดาฯจึงได้กำหนดมาตรฐานที่เพิ่มความเข้มข้นการปฏิบัติงานในไซต์ก่อสร้างโครงการของบริษัท ละเลียดดูทุก ๆ กระบวนการการก่อสร้างโดยมีโจทย์หลักให้ความสำคัญกับเพื่อนบ้าน ชุมชนรับผลกระทบน้อยที่สุด

 

ไฮไลต์อยู่ที่ “มาตรการระหว่างการก่อสร้าง” บริษัทได้เริ่มต้นลงมือทำแล้วที่ “ไอดีโอ รัชดา-สุทธิสาร” ปัจจุบันโครงการก่อสร้างเสร็จ 100% แผนขยายผลไปที่ “ไอดีโอ อโศก พระราม 9”กับ “ไอดีโอ จุฬา-สามย่าน” และ “แอชตันแกรนด์ พาร์ค ลุมพินี” (รีแบรนด์จากไอดีโอ โมบิ พระราม 4)

ผู้รับผิดชอบจะตรวจสอบคุณภาพเครื่องวัดฝุ่นละอองที่ติดตั้งอยู่แล้วในไซต์ก่อสร้างให้เป็นไปตามมาตรฐานรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อควบคุมและลดอัตราการกระจายฝุ่นภายในไซต์ก่อสร้างให้อยู่ในระดับมาตรฐาน เบื้องต้นมีมาตรการลดฝุ่นที่เกิดจากการก่อสร้าง ดังนี้

1.ติดตั้งสปริงเกลอร์พ่นน้ำเพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่นโดยรอบพื้นที่ก่อสร้าง มีการคลุมอาคารและมีสปริงเกลอร์ฉีดพ่นน้ำทุก ๆ 5 ชั้นของอาคาร 2.ติดตั้งเครื่องตรวจวัดฝุ่นละอองเพื่อควบคุมปริมาณฝุ่นไม่ให้เกินค่ามาตรฐาน

3.การทำ “ห้องตัดกระเบื้อง” ซึ่งจะช่วยถึง 5 ด้าน คือ “ลดฝุ่น ลดเสียง ลดขยะ ลดขั้นตอนขนส่ง ลดเวลาการก่อสร้าง” ภายในห้องมี 3.1 พัดลมดูดอากาศจากภายนอกเข้าสู่ภายในห้องเพื่อถ่ายเทอากาศ 3.2 เครื่องตัดกระเบื้อง 3.3 พัดลมดูดอากาศ ทำหน้าที่ดูดฝุ่นออกจากห้องเข้าสู่ท่อลำเลียงฝุ่น 3.4 ท่อลำเลียงฝุ่นออกสู่ถังพัก และ 3.5 ถังน้ำ(สำหรับทิ้งให้ฝุ่นตกตะกอน ป้องกันการฟุ้งกระจาย) 4.ควบคุมระดับเสียงไม่เกิน 120 เดซิเบล โดยวัดเสียง real time (ไม่ใช่เป็นการวัดแบบค่าเฉลี่ยของทั้งวันขณะทำการก่อสร้าง)

5.การทำงานปูพื้นกระเบื้องในรูปแบบใหม่ เป็นการตัดกระเบื้องในห้องตัดสำหรับเตรียมวัสดุในลักษณะของจิ๊กซอว์ จากนั้นจึงยกขึ้นไปปูกระเบื้องยังพื้นที่หน้างาน ทำให้ลดฝุ่น-ลดเสียงที่เกิดจากการตัด ผลพลอยได้ลดปริมาณสูญเสียกระเบื้องได้ดีขึ้นอีกต่างหาก

“ปัญหามลพิษทางอากาศและสิ่งแวดล้อม อนันดาฯให้ความสำคัญมาโดยตลอด เป็นปัญหาใกล้ตัว หากทุกคน ทุกองค์กร และทุกหน่วยงานหันมาร่วมกันห่วงใยและใส่ใจกับปัญหาเหล่านี้ด้วยการร่วมมือกันรับผิดชอบและแก้ปัญหาไปด้วยกัน เชื่อมั่นว่าโลกของเราจะกลับมาน่าอยู่มากขึ้น”

 

วันที่ : 21 ธันวาคม 2563

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ



 

ความคิดเห็น