รัฐบาลทุ่มแสนล้านแก้รถติดรอบรพ.ศิริราช ลงทุนเชื่อมถนนยกระดับ-รถไฟฟ้า 2 สายสนองแนวพระราชดำริ

คมนาคม-กทม. ทุ่มกว่า 1 แสนล้านเดินหน้าแก้จราจรรอบศิริราช สนองพระราชดำริในหลวง สร้างทางยกระดับลอยฟ้าเชื่อมพระราม 8-พุทธมณฑลสาย 4 กว่า 3 พันล้าน ต่อขยายรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง “ตลิ่งชัน-ศิริราช และตลิ่งชัน-ศาลายา” มูลค่า 1.9 หมื่นล้าน และสายสีส้ม “ตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม” มูลค่า 8.5 หมื่นล้าน เร่งปักหมุดปี′60

นายภัทรุตม์ ทรรทรานนท์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กทม.จะเดินหน้าโครงการก่อสร้างแก้ปัญหาจราจรฝั่งธนบุรีบริเวณโดยรอบศิริราชตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีทั้งหมด6โครงการแยกเป็น2กลุ่ม

prachachart161411b01

 

กทม.เดินหน้าโครงการพระราชดำริ

กลุ่มแรกโครงการที่รับสนองพระราชดำริมี2 โครงการ คือ งานปรับปรุงโครงข่ายถนนบริเวณริมคลองบางกอกน้อย และบริเวณหน้าศูนย์ความเป็นเลิศ และถนนรถไฟ (ย่านตลาดศาลาน้ำร้อน) ค่าก่อสร้าง 120 ล้านบาท จะปรับปรุงและขยายถนนเดิมจากลาดยางขนาด 2 ช่องจราจร เป็นถนนคอนกรีตขนาด 2-4 ช่องจราจร ระยะทาง 2.4 กม. รวมถึงขุดคลองคูเมืองเดิมให้เชื่อมต่อกับคลองบางกอกน้อย พร้อมสร้างประตูระบายน้ำ ขณะนี้เปิดใช้แล้ว

และขยายสะพานอรุณอมรินทร์ พร้อมทางขึ้น-ลงจาก 4 ช่องจราจรเป็น 6 ช่องจราจร และสร้างทางยกระดับข้ามแยกศิริราชขนาด 2 ช่องจราจร จากสะพานอรุณอมรินทร์ถึงหน้ากรมอู่ทหารเรือ ระยะทาง 1.3 กม. งบประมาณ 1,300 ล้านบาท แยกเป็นค่าก่อสร้าง 900 ล้านบาท และเวนคืนที่ดิน 370 ล้านบาท จะปรับปรุงทางลงจากสะพานอรุณอมรินทร์ไปยังสถาบันการแพทย์สยามินทราธิราช

จะสร้างทางขึ้นใหม่จากถนนริมคลองบางกอกน้อยขึ้นสะพานอรุณอมรินทร์เพื่อไปยังแยกอรุณอมรินทร์สร้างทางกลับรถใต้สะพานอรุณอมรินทร์บริเวณหน้าโรงเรียนวัดอมรินทรารามขนาด1ช่องจราจรก่อสร้างทางเดินยกระดับ (Sky Walk) บริเวณด้านหน้าโรงพยาบาลศิริราช จากอาคารกองสลากกินแบ่งรัฐบาลถึงอาคารผู้ป่วยนอก และข้ามทางแยกไปยังซอยแสงศึกษา เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2559 กำหนดเสร็จวันที่ 30 เม.ย. 2561

ทุ่ม 3 พันล้านยกระดับถึงสาย 4

กลุ่มที่ 2 โครงการที่มีการติดตามโครงการพระราชดำริเดิมมี 2 โครงการ คือ 1.โครงการต่อเชื่อมจากสะพานพระราม 8 กับถนนพรานนก-ถนนพุทธมณฑลสาย 4 (แยกไฟฉาย) ค่าก่อสร้างและเวนคืนที่ดินเบื้องต้น 3,000 ล้านบาท เป็นทางยกระดับขนาด 2 ช่องจราจรไปและกลับ จากแยกถนนอรุณอมรินทร์แล้วข้ามคลองบางกอกน้อยผ่านถนนอิสรภาพ ถนนพรานนก ข้ามถนนจรัญสนิทวงศ์ไปสิ้นสุดบนถนนพรานนก-พุทธมณฑลสาย 4

จะมีทางเชื่อมกับทางยกระดับบรมราชชนนี และทางขึ้น-ลงจากถนนสมเด็จพระปิ่นเกล้า บริเวณแยกไฟฉายจะมีสะพานลอยข้ามแยกเพิ่มเติมตามแนวถนนพรานนก และมีทางลงด้านหน้าตลาดศาลาน้ำร้อน ระยะทางรวม 3.7 กม. ปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) หากโครงการได้รับการอนุมัติจะใช้เวลาก่อสร้าง 720 วัน

2.ขยายถนนสุทธาวาส และสร้างสะพานข้ามแยกถนนจรัญสนิทวงศ์ วงเงิน 350 ล้านบาท แยกเป็นค่าก่อสร้าง 230 ล้านบาท และค่าเวนคืนที่ดิน 120 ล้านบาท จะขยายช่องจราจรของถนนสุทธาวาสเดิมช่วงจากถนนอิสรภาพถึงถนนจรัญสนิทวงศ์จาก 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร และถนนเลียบทางรถไฟ จากเดิม 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร ระยะทาง 3.5 กม. สร้างสะพานขนาด 2 ช่องจราจรข้ามถนนจรัญสนิทวงศ์ ตามแนวถนนสุทธาวาส ความยาว 350 เมตร เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2559 กำหนดเสร็จวันที่ 19 ธ.ค. 2560

คมนาคมเพิ่มรถไฟฟ้า3สาย

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า โครงการในส่วนของคมนาคมที่ถวายรายงานในขณะนั้น มีโครงการทางด่วน รถไฟฟ้า และมอเตอร์เวย์ เพื่อเชื่อมการเดินทางทั้งในพื้นที่ชั้นในและรอบนอก ขณะนี้ที่ได้ดำเนินไปแล้ว คือ ทางด่วนสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกตะวันตก ระยะทาง 17 กม. ซึ่งการทางพิเศษแห่งปนะเทศไทย (กทพ.) เปิดใช้แล้วเมื่อเดือน ส.ค. 2559

ในส่วนของรถไฟฟ้ามี 3 สายที่จะเชื่อมการเดินทางมายังฝั่งธนบุรี คือ สายสีแดงอ่อนส่วนต่อขยายช่วงตลิ่งชัน-ศิริราชและตลิ่งชัน-ศาลายา ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ซึ่งผ่านรายงานอีไอเอแล้ว พร้อมประมูลก่อสร้างซึ่งกระทรวงได้นำโครงการนี้บรรจุในแผนปฏิบัติเร่งด่วนปี 2560

รูปแบบจะเป็นการปรับปรุงเขตทางรถไฟเดิมให้รองรับระบบรถไฟชานเมืองที่จะปรับเป็นรถไฟฟ้าได้ ระยะทางรวม 20 กม. วงเงินลงทุน 19,042 ล้านบาท มี 7 สถานี ได้แก่ สถานีธนบุรี-ศิริราช จรัญสนิทวงศ์ ตลาดน้ำตลิ่งชัน ตลิ่งชัน (สถานีร่วมกับรถไฟฟ้าสายสีแดง บางซื่อ-ตลิ่งชัน) สถานีบ้านฉิมพลี กาญจนาภิเษก ศาลาธรรมสพน์ และศาลายา

นอกจากนี้ มีสายสีส้มช่วงศูนย์วัฒนธรรม-ตลิ่งชัน ระยะทาง 16.4 กม. เงินลงทุน 85,288 ล้านบาท อยู่ในแผนปี 2560 เช่นกัน ส่วนสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (บางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค) ระยะทาง 27 กม. กำลังก่อสร้างจะทยอยเปิดให้บริการในปี 2562-2563

“สายสีแดงจะมีสถานีที่ศิริราช บริเวณด้านหลังตึกศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ รองรับคนที่จะไปใช้บริการโรงพยาบาลและพื้นที่ใกล้เคียง เฉพาะสถานีนี้คาดว่าจะมีผู้โดยสารเฉลี่ย 30,000 เที่ยวคนต่อวัน ซึ่งรถไฟฟ้า 3 สายนี้จะมีจุดเชื่อมต่อกันที่สถานีบางขุนนนท์”

ด้านกรมทางหลวง (ทล.) มีโครงการแก้ไขปัญหาจราจรบนถนนวงแหวนรอบนอกตะวันตกช่วงบางใหญ่-บางปะอิน เนื่องจากปริมาณการจราจรเพิ่มขึ้นมาก โดยมี 2 แนวคิด คือ จะขยายช่องจราจรจากเดิม 4 ช่องจราจร เป็น 6 ช่องจราจร หรือสร้างทางยกระดับขึ้นอีก 1 ชั้น

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
วันที่ 11 พฤศจิกายน 2559

ความคิดเห็น