กทม. ลุยสร้างรถไฟฟ้าสายสีทองเฟสแรก 3 สถานี เปิดบริการกลางปี'61

กทม.ลุยสร้างรถไฟฟ้าสายสีทองเฟสแรก 3 สถานี เปิดบริการกลางปี’61

gold160608b02

 

พีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ภายหลังจากการประชุมคณะกรรมการรถไฟฟ้าสายสีทอง กระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดให้ กทม.นำโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง ช่วงสถานีกรุงธนบุรี-สำนักงานเขตคลองสาน-ประชาธิปก ระยะทาง 2.68 กิโลเมตร จำนวน 5 สถานี วงเงินลงทุน 3,845 ล้านบาท เข้ามาบรรจุในแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนระยะที่ 2 ของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เพื่อสนับสนุนให้เกิดความเชื่อมโยงในระบบขนส่งโดยเฉพาะโครงข่ายรถไฟฟ้ากรุงเทพมหานคร เนื่องจากโครงการดังกล่าวทำหน้าที่เป็นฟีดเดอร์ หรือระบบสนับสนุนการเดินทางไปยังรถไฟฟ้าสายหลัก ของการรถไฟฟ้าขนขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ตลอดจนเชื่อมต่อระบบตั๋วร่วม (Common Ticketing System) เพื่อใช้บัตรเพียงใบเดียวในทุกระบบขนส่งมวลชนตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม ดังนั้นกทม.ต้องเร่งรัดหาข้อสรุปการเชื่อมต่อโครงการดังกล่าวกับระบบรถไฟฟ้าโครงข่ายอื่นภายในกลางปีหน้า (2560) เพื่อไม่ให้กระทบกับแผนการก่อสร้างโครงข่ายรถไฟฟ้าในภาพรวม

อย่างไรก็ตามโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง เฟส 2 ซึ่งจะก่อสร้างเป็นเส้นทางยกระดับ ช่วงโรงพยาบาลตากสิน-วัดอนงคารามวรวิหาร ระยะทาง 1 กิโลเมตรนั้นพบว่าเส้นทางบางส่วนทับซ้อนกับแนวเส้นทางระดับใต้ดินของรถไฟฟ้าสายสีม่วงของรฟม. เป็นระยะทางยาวประมาณ 400 เมตร เริ่มตั้งแต่บริเวณสถานีสะพานพุทธถึงบริเวณสี่แยกบ้านแขก ดังนั้น รฟม. จึงขอให้ กทม.เร่งรัดสรุปแบบก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในกลางปี 2560 อีกด้วย

ด้าน สุธน อาณากุล รองผู้อำนวยการ สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีทองระยะที่ 1 จะเริ่มก่อสร้างได้ก่อนจำนวน 3 สถานี ได้แก่ G1 สถานีกรุงธนบุรี G2 สถานีเจริญนคร (ไอคอนสยาม) และ G3 สถานีคลองสาน (หน้าโรงพยาบาลตากสิน) ระยะทางรวมทั้งสิ้น 1.8 กิโลเมตร วงเงิน 2.5 พันล้านบาท โดยจะเริ่มก่อสร้างช่วงต้นปี 2560 รวมระยะเวลาดำเนินการทั้งหมด 1 ปีครึ่งแบ่งเป็นระยะเวลาก่อสร้าง 10 เดือนและระยะเวลาการทดลองระบบรถไฟฟ้าอีก 8 เดือน พร้อมเปิดให้บริการช่วงกลางปี 2561

อีกทั้งโครงการยังมีความพร้อมรองรับระบบตั๋วร่วมเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางได้ทันทีที่เปิดให้บริการอีกด้วย คาดการณ์ผู้โดยสารระยะแรก 4 หมื่นคนต่อวัน โดยมีอัตราค่าโดยสารไม่เกิน 15 บาท ทั้งนี้โครงการดังกล่าวจะเลือกใช้รถไฟระบบล้อยางหรือ Automated Guideway Transit (AGT) ซึ่งเป็นตัวรถไฟฟ้าที่มีความคุ้มค่าในแง่การลงทุน เนื่องจากมีขนาดเหมาะสมกับระบบขนส่งและต้นทุนบำรุงรักษาต่ำอีกทั้งยังลดมลพิษทางเสียงให้กับประชาขนได้อีกด้วย

สุธน กล่าวต่อว่า สำหรับเฟส 2 ช่วงโรงพยาบาลตากสิน-วัดอนงคารามวรวิหาร ระยะทาง 1 กิโลเมตร จำนวน 2 สถานี วงเงินลงทุน 1,345 ล้านบาท นั้นอยู่ระหว่างออกแบบก่อสร้าง สำหรับรถไฟฟ้าดังกล่าวจะก่อสร้างเป็นทางยกระดับตลอดเส้นทาง เป็นระบบรถไฟฟ้าล้อยางซึ่งจะใช้พื้นที่เกาะกลางถนนในการก่อสร้าง ทำให้ไม่ต้องเวนคืนพื้นที่ ประหยัดต้นทุน ด้านการก่อสร้างและบำรุงรักษาอีกด้วย สำหรับค่าโดยสารเริ่มต้น

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีทองดังกล่าวเชื่อมต่อโครงข่ายรถไฟฟ้าหลากหลายสายประกอบไปด้วย การเชื่อมต่อรถไฟสายสีแดงช่วงหัวลำโพง-บางบอน-มหาชัย ที่บริเวณสถานีคลองสาน G3 การเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ บริเวณสถานีประชาธิปก G5 อีกทั้งยังสามารถเชื่อมต่อรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ที่ถนนอิสรภาพบริเวณสี่แยกบ้านแขก ตลอดจนสามารถเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่บริเวณสถานีกรุงธนบุรี G1 อีกด้วย

ที่มา โพสต์ทูเดย์
วันที่ 9 พฤศจิกายน 2559

ความคิดเห็น