การรถไฟแห่งประเทศไทย อัปเดตการก่อสร้าง "สถานีกลางบางซื่อ" พร้อมเปิดใช้งานต้นปี 2564

นายวรวุฒิ มาลา  รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย อัปเดตโครงการสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งเป็นสถานีรถไฟหลักแห่งใหม่ของไทย และยังเป็นสถานีที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อทดแทนสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) กำหนดให้เป็นสถานีรถไฟต้นทางของรถไฟวิ่งทางไกลรวมถึงรถไฟฟ้าความเร็วสูง และยังเป็นสถานีศูนย์กลางของรถไฟฟ้าสายสีแดงทั้งสายสีแดงเข้มและสีแดงอ่อน

 

สถานีกลางบางซื่อจะพร้อมเปิดใช้งานในช่วงต้นปี 2564 ซึ่งคาดว่าเมื่อเปิดใช้ในแรกจะมีคนใช้บริการสถานีกลางบางซื่อ 208,000 เที่ยวคน/วัน และเพิ่มเป็น 396,000 เที่ยวคน/วัน ในปี 2575 โดยสถานีจะมีความยาว 596.6 เมตร ความกว้าง 244 เมตร ความสูง 43 เมตร พื้นที่ใช้สอยโดยรวม ประมาณ 28o,ooo ตร.ม. และในตัวอาคารจะมีทั้งหมด 3 ชั้น (ไม่รวมชั้นลอยและชั้นใต้ดิน) ซึ่งในส่วนของชั้นใต้ดินที่มีพื้นที่รวม 72,542 ตร.ม. เป็นพื้นที่สำหรับจอดรถที่รองรับได้ถึง 1,624 คัน

 

โดยชั้นที่ 1 จะมีพื้นที่รวม 86,700 ตร.ม. เป็นพื้นที่สำหรับห้องจำหน่ายตั๋วโดยสาร ร้านค้า ศูนย์อาหาร โถงพักคอยและจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และยังมีส่วนของชั้นลอยที่มีพื้นที่ใช้สอย 12,020 ตร.ม. ซึ่งจะเป็นพื้นที่พาณิชยกรรม ร้านค้า และห้องควบคุม

 

ชั้นที่ 2 เป็นชั้นชานชาลาสำหรับรถไฟที่สำหรับรถไฟที่ใช้รางขนาด 1.00 เมตร ประกอบด้วยรถไฟทางไกล 8 ชานชาลา และรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง 4 ชานชาลา โดยมีพื้นที่รวม 42,000 ตร.ม.

 

ชั้นที่ 3  จะเป็นแบบ Open Air โดยมีพื้นที่รวม 42,300 ตร.ม. เป็นชานชาลาสำหรับรถไฟที่ใช้รางขนาด 1.435 เมตร ประกอบด้วย รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Airport Rail Link) และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 2 ชานชาลา รถไฟฟ้าความเร็วสูงสายเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 6 ชานชาลา รถไฟฟ้าความเร็วสูงสายใต้ จำนวน 4 ชานชาลา รวมทั้งสิ้น 12 ชานชาลา

 

นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ลานพระบรมราชานุสาวรีย์ ที่มีพื้นที่ 186,030 ตร.ม. มีบึงน้ำขนาด 14,000 ตร.ม. โดยเป็นลานน้ำพุประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย

ปัจจุบันความคืบหน้าโดยรวมของการก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุงคิดเป็น 98% ส่วนทางรถไฟช่วงบางซื่อ-รังสิต ที่ประกอบไปด้วย 8 สถานีทั้งทางรถไฟแบบยกระดับและใต้ดิน และงานโยธาด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นถนนเลียบทางรถไฟ สะพานกลับรถ สะพานข้ามทางรถไฟ และระบบระบายน้ำ ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์แล้ว และตอนนี้ตู้รถไฟสายสีแดงได้ส่งมาถึงไปยแล้วบางส่วน

อย่างไรก็ตามในช่วงแรกจะมีการสร้างสถานีชั่วคราวในบริเวณสถานีบางซื่อเก่าเพื่อรองรถไฟรางดีเซล เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนจะนำเข้าสถานีกลางบางซื่อได้ โดยสถานีชั่วคราวนี้คาดว่าแล้วเสร็จในปี 2565

 

 

 

 

วันที่ 18 มีนาคม 2563

ความคิดเห็น