กคช.พัฒนาโมเดลใหม่ในการร่วมทุนกับภาคเอกชนผุด เมกะโปรเจกต์

การเคหะแห่งชาติ ดึงภาคเอกชนร่วมพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยทั้งขนาดกลางและขนาดใหญ่ (Mega Project) ภายใต้โครงการเคหะร่วมทุนและร่วมดำเนินกิจการ เอกชนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สามารถเข้าถึงสวัสดิการพื้นฐานของสังคมตามนโยบายของภาครัฐ


 

 

ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันการเคหะแห่งชาติมีที่ดินในกรรมสิทธิ์ทั่วประเทศ ซึ่งอยู่ในทำเลที่มีศักยภาพสูงอีกทั้งยังเป็นที่ต้องการของภาคเอกชนในการพัฒนาเชิงธุรกิจ การเคหะแห่งชาติจึงมีแนวคิดพัฒนาที่ดินดังกล่าวให้เกิดรายได้และเกิดประโยชน์สูงสุด ภายใต้โครงการเคหะร่วมทุนและร่วมดำเนินกิจการ เอกชนโดยเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาลงทุนร่วมกับการเคหะแห่งชาติใน 2 รูปแบบ ได้แก่

 

รูปแบบแรก โครงการร่วมดำเนินการ : เคหะประชารัฐ – ภูมิภาค มุ่งเน้นพัฒนาโครงการขนาดเล็กที่มีมูลค่าโครงการไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติการเคหะแห่งชาติโดยการเคหะแห่งชาติ จะให้การสนับสนุนภาคเอกชนในส่วนภูมิภาคหรือกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งมีที่ดินและเงินทุน แต่ขาดประสบการณ์ในการบริหารจัดการโครงการ ด้วยการให้คำปรึกษาและให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ อาทิ การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ การสนับสนุนการยื่นขออนุมัติวงเงินสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ รวมถึงกำกับดูแลการออกแบบ พร้อมควบคุมงานด้านการก่อสร้าง และร่วมวางแผนด้านการตลาดและการขายโครงการ ตลอดจนการบริหารชุมชนหลังจากการก่อสร้างแล้วเสร็จ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้โครงการดังกล่าวมีโอกาสประสบความสำเร็จสูง เป็นการจูงใจให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นเข้ามาลงทุนในโครงการที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น โดยได้วางเป้าหมายในการพัฒนาไว้จังหวัดละประมาณ 1,000 หน่วย รวมทั้งสิ้นประมาณ 70,000 หน่วยทั่วประเทศ

 

 

รูปแบบที่ 2 โครงการร่วมลงทุน PPP : เมืองประชารัฐ -Smart City มุ่งเน้นพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ (Mega Project) ที่มีมูลค่าโครงการมากกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งจะดำเนินโครงการภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 ในลักษณะการให้สิทธิการเช่าที่ดินของการเคหะแห่งชาติเป็นเวลา 30 ปี และสามารถต่อสัญญาเพิ่มได้อีก 30 ปี ในรูปแบบ BOT (Build Operate Transfer)/BTO(Build Transfer Operate) ให้กับกลุ่มทุนจากภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศได้เข้ามาลงทุนในการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว และในขณะเดียวกันการเคหะแห่งชาติจะขอสนับสนุนมาตรการจูงใจด้านภาษี รวมถึงดอกเบี้ยพิเศษ และขอผ่อนผันหลักเกณฑ์กฎหมายการใช้ประโยชน์ที่ดิน (ผังเมือง) ให้แก่ภาคเอกชน โดยมีเป้าหมายหลักใน 5 พื้นที่ ได้แก่ ดินแดง ร่มเกล้า บางพลี เชียงใหม่ และลำลูกกา ซึ่งจะดำเนินโครงการในลักษณะ Mixed Use ซึ่งวางเป้าหมายในการพัฒนาไว้ทั้งสิ้น 100,000 หน่วย ทั่วประเทศ

 

“ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของการดำเนินโครงการทั้งในด้านการตลาด เทคนิคทางกายภาพ การออกแบบ Conceptual Design ของโครงการ รวมถึงการประมาณการต้นทุนและความเป็นไปได้ทางการเงิน และเตรียมประกาศเชิญชวนผู้ประกอบการให้มาร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าวต่อไป ทั้งนี้ ทั้ง 2 โครงการดังกล่าว คาดว่าจะนำเสนอ ครม. เพื่อขออนุมัติหลักการและเริ่มดำเนินการให้เกิดเป็นรูปธรรมภายในปี 2561 นี้”

 

ที่มา: mgronline

ความคิดเห็น