ชวนใส่ใจ ออกแบบบ้านอย่างไรให้ผู้สูงวัย SMILE

รอยยิ้มของผู้สูงอายุทุกท่านย่อมมาจากการได้พักอาศัยในบ้านแห่งความสุข บ้านอันเป็นพื้นที่เซฟโซน กับความปลอดภัยที่มากับทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ

เพราะฉะนั้นการจัดการพื้นที่ภายในและการออกแบบบ้านให้เป็นพื้นที่ที่ผู้สูงวัยอุ่นใจ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยเติมความสุขและรอยยิ้มในทุกอิริยาบถสำหรับผู้สูงวัย พร้อมทั้งลูกหลานเองก็สบายใจที่ได้เป็นบุคคลผู้เป็นที่รักได้พักอาศัยในบ้านที่เหมาะสมกับช่วงวัยอย่างแท้จริง

SCG HOME Experience จึงอยากชวนคุณมาใส่ใจการออกแบบแต่ละห้อง และแต่ละพื้นที่ภายในให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์และเข้าใจรูปแบบวิธีการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุให้ได้มากที่สุด

1 ห้องนอน

หลักสำคัญสำหรับการออกแบบห้องนอน คือพักผ่อนและอยู่สบาย เริ่มต้นตั้งแต่การเลือกห้องที่ควรมีหน้าต่างภายใน เพื่อรับแสงธรรมชาติ และเชื่อมต่อทัศนียภาพเข้ามาสร้างบรรยากาศแห่งการอยู่อาศัย พร้อมกับช่วยลดอาการซึมเศร้าได้ด้วย ที่สำคัญภายในห้องควรมีอากาศที่ถ่ายเทสะดวก หรือเพิ่ม ระบบ SCG Active Air Quality ที่ช่วยให้ห้องมีคุณภาพอากาศที่ดีขึ้น ในส่วนของการจัดการพื้นที่ภายใน เตียงนอนที่เป็นพระเอกของห้องควรจัดวางในบริเวณที่สามารถมองเห็นทิศทางการเดินไปยังห้องน้ำได้อย่างชัดเจน รอบเตียงปราศจากเฟอร์นิเจอร์หรือสิ่งกีดขวางที่ทำให้การเดินมีอุปสรรค ทางที่ดีควรเปิดโล่งให้กับบริเวณข้างเตียงทั้งสองด้าน และควรคิดเผื่อยาวไปถึงอนาคต ด้วยการเตรียมให้มีพื้นที่สำรองสำหรับผู้ช่วยดูแลด้วย งานวัสดุก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญสำหรับห้องนอน พื้นที่เหยียบควรติดตั้งพื้นชนิดลดแรงกระแทก ที่ช่วยถนอมทุกย่างก้าวในการเดิน ไปพร้อมกับป้องกันอาการบาดเจ็บที่เกิดจากการล้ม อาทิ พื้นลดแรงกระแทก Peel&place ที่ช่วยลดการบาดเจ็บในกรณีที่มีการล้ม แนะนำว่ากันไว้ก่อนดีกว่าตามแก้ไขทีหลัง

2 การออกแบบแสงสว่างภายในห้องนอน

เพราะต้องใช้ห้องนอนในเวลากลางคืน การออกแบบแสงสว่างจึงมีผลโดยตรงกับเรื่องการมองเห็น เพื่อป้องกันอุบัติเหตุไปพร้อมกับการถนอมสายตาไปในตัว แสงสว่างในตอนกลางคืนควรเป็นการให้แสงสว่างโดยอ้อม หรือ Indirect Light ไม่ควรใช้แสงสว่างจ้าส่องเข้าตาโดยตรง โดยช่วงแสงที่เหมาะสมจะอยู่ที่ไฟเดย์ไลท์ แบบคูลไวท์ ความสว่างอยู่ที่ 5,000K

3 ห้องน้ำ

ห้องน้ำเป็นอีกจุดที่ควรใส่ใจเป็นอย่างมาก เพราะน้ำและความชื้นทำให้พื้นผิวห้องน้ำเปียกลื่น เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายกว่าพื้นที่อื่น

การจัดการพื้นผิวภายในห้องน้ำจึงเป็นเรื่องใหญ่ ตั้งแต่การติดตั้งกระเบื้องที่ช่วยลดการลื่น ระดับของพื้นห้องน้ำควรเสมอกับภายนอกเพื่อเชื่อมต่อการใช้งานพื้นที่อย่างไม่มีสะดุด พร้อมกับเป็นทางลาดให้น้ำระบายออกอย่างรวดเร็ว การเว้นพื้นที่ภายในควรมีระยะเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 1.5 เมตรขึ้นไป เพื่อรองรับการใช้งานวีลแชร์ให้สามารถหมุนตัวได้ อุปกรณ์ประกอบภายในห้องน้ำก็จำเป็นจะต้องใส่ใจ เริ่มจากการใช้งานประตูบานเลื่อนที่กว้างไม่น้อยกว่า 90 เซนติเมตร หรือหากจำเป็นต้องใช้ประตูบานเปิด ควรใช้เป็นบานผลักเพื่อความสะดวกในการใช้งาน ติดตั้งราวจับให้ผู้สูงอายุช่วยในการพยุงตัวระหว่างการเดินไปยังจุดต่างๆ ได้อย่างสะดวก และสามารถใช้งานสุขภัณฑ์ได้อย่างปลอดภัย เพราะเป็นส่วนที่สร้างความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ งานประตูหน้าต่างสำหรับผู้สูงอายุจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องใส่ใจเพื่อให้ความเป็นอยู่ภายในบ้านเป็นไปอย่างราบรื่น ทางที่ดี ห้องสำหรับผู้สูงอายุควรเลือกใช้เป็นประตูบานเลื่อน ความกว้างไม่น้อยกว่า 90 เซนติเมตรเพื่อการใช้งานอย่างสะดวก พื้นระหว่างสองห้องควรเรียบเสมอกันเพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการสะดุดล้ม ส่วนหน้าต่างควรมีความสูงจากพื้นอยู่ที่ 50-60 เซนติเมตร เพื่อให้ผู้สูงอายุมองเห็นทัศนียภาพภายนอกบ้านได้ในระยะสายตา

4 เฟอร์นิเจอร์

การเลือกเฟอร์นิเจอร์สำหรับผู้สูงอายุควรเลือกชนิดที่มีความปลอดภัยเป็นพิเศษ โดยเฉพาะกับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ตั้งแต่เรื่องความสูงที่ควรอยู่ที่ระยะ 40-50 เซนติเมตร ซึ่งใกล้เคียงกับความสูงของเก้าอี้ทั่วไป หลีกเลี่ยงเฟอร์นิเจอร์ที่เป็นกระจกใส อย่างโต๊ะกลางควรเป็นวัสดุทึบ ป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดตามมาสีสันก็เป็นอีกเรื่องราวที่สำคัญที่ช่วยขับเน้นให้การมองเห็นเพื่อใช้งานพื้นที่ชัดเจนขึ้น เช่น สีของชุดเฟอร์นิเจอร์ผ้าบุอย่างโซฟาและพื้นควรเป็นสีสว่างเพื่อให้มองเห็นการใช้งานได้ชัดเจน หรือสีของพื้น-ผนัง-เฟอร์นิเจอร์ ควรตัดกันเพื่อให้สามารถจำแนกความแตกต่างของการใช้งานแต่ละชนิดได้อย่างชัดเจน อาจติดตั้งระบบ SMART HOME ที่ช่วยอำนวยความสะดวกและใช้ชีวิตง่ายขึ้น

5 บันไดและทางลาด

เมื่อต้องใช้งานพื้นที่ต่างระดับ บันไดและทางลาดคือพื้นที่ที่อาจเสี่ยงก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้มากที่สุด ทั้งนี้ทางลาดชันควรมีระดับตามมาตรฐาน อยู่ที่ไม่เกิน 1:12 กว้างไม่น้อยกว่า 90 เซนติเมตร พร้อมกับการติดตั้งราวกันตกสูง 80-90 เซนติเมตร ในระยะที่เหมาะสมกับการใช้งาน นอกจากนั้นแล้ว ด้านข้างของทางลาดควรมีขอบสูง 5 เซนติเมตร เพื่อความปลอดภัย พร้อมกับการเลือกใช้วัสดุที่มีพื้นผิวไม่ลื่น แนะนำให้ดูฉลากผลิตภัณฑ์ที่บอกว่าเหมาะสำหรับการใช้งานนอกบ้าน เพื่อการยึดเกาะระหว่างการเดินที่ดี ป้องกันอุบัติเหตุ พื้นภายนอกที่มีค่า R (ค่าคุณสมบัติกันความลื่นของพื้นผิวกระเบื้อง) เป็นตัวบอกว่ากระเบื้องเหล่านี้เหมาะสำหรับใช้งานในพื้นใดจึงจะปลอดภัยกับผู้ใช้งาน ซึ่งควรมีมากกว่า R10 จึงเหมาะกับใช้งานบนพื้นที่ภายนอกและพื้นที่เปียกชื้น เช่น ทางลาดเอียง ดังนั้นวัสดุพื้นผิวต้องไม่ลื่น มีความต่อเนื่องระหว่างพื้นกับทางลาดต้องเรียบไม่สะดุด ความกว้าง 90-150 เซนติเมตร มีความยาวแต่ละช่วงไม่เกิน 600 เซนติเมตร และมีราวจับทางเดินตลอดแนว ความลาดชันไม่เกิน 1:12 พื้นที่ว่างหน้าทางลาดต้องไม่น้อยกว่า 150 เซนติเมตร

สำหรับครอบครัวที่สนใจและต้องการคำปรึกษาเป็นพิเศษติดต่อได้ที่ SCG Care Living Solution ซึ่งมาพร้อมกับผลิตภัณฑ์มาตรฐาน การให้ปรึกษาเพื่อการออกแบบ ไปจนถึงการติดตั้งโดยผู้เชี่ยวชาญจากเอสซีจี ทั้งหมดนี้เพื่อตอบความปลอดภัย ความสะดวกกาย สบายใจ และสุขภาวะที่ยืนยาวของผู้สูงอายุที่คุณรัก พบกันได้ที่ SCG HOME Experience ณ Crystal Design Center เลียบทางด่วน เอกมัย-รามอินทรา เปิดบริการทุกวัน เวลา 10.00 น.-19.00 น. หรือสอบถามรายละเอียด โทร. 0-2101-9922

ความคิดเห็น