'Co-Living Genaration' แนวคิดการออกแบบพื้นที่ ให้คนหลากหลายใช้ชีวิตร่วมกัน ในวันที่ประชากรหนาแน่น แต่พื้นที่มีจำกัด

คนจำนวนมากนิยมเข้ามาอาศัยในเมืองใหญ่เป็น’ประชากรเมือง’ เพราะเมืองอันศิวิไลซ์ใครๆก็อยากเข้ามาแสวงหาความก้าวหน้าและความสบาย เป็นเหตุให้เมืองอันมีพื้นที่จำกัด หนาแน่นไปด้วยประชากร การจัดสรรพื้นที่ ทรัพยากร สิ่งอำนวยความสะดวกจึงทำได้ยากมากขึ้น การทำความเข้าใจคนและออกแบบพืนที่ให้เหมาะสมโดยแนวคิด Co-Living Generation จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับอนาคตอันใกล้ ที่ควรทำเพื่อแก้ไขปัญหา และสร้างคุณภาพชีวิตให้กับประชากรเมือง


 

มนุษย์เริ่มเคยชินกับชีวิตที่พึ่งพาความเจริญ พื้นที่เมืองหลวงจึงกลายเป็นเหมือนโอเอซิสที่หลายๆคนต่างอยากจะเข้ามาอิงอาศัย กลายเป็น ‘ประชากรเมือง’ จากข้อมูลจำนวนประชากรโลกทั้งหมด มีถึง 54 เปอร์เซ็นต์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เมือง ซึ่งปัจจุบัน เหล่าประชากรเมืองทั่วโลกเติบโตขึ้นจาก 746 ล้านคนในปี 1950 สู่ 3.9 พันล้านคน ในปี 2014 และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 6 พันล้านคน หลังปี 2030

เมืองที่มีประชากรอาศัยอยู่เกินประมาณ 10 ล้านคนเป็นต้นไป เราเรียกว่า Mega City ซึ่งเดิมทีในปี 1990 มีอยู่เพียง 10 เมือง แต่เวลาผ่านไปไม่นาน ในปี 2014 Mega City ทั่วโลกก็เพิ่มจำนวนเป็น 28 เมือง และกรุงเทพมหานครฯ ของเรา ก็อยู่อับดับที่ 28 นั่นเอง มีประชากร 8.29 ล้านคน

 

 

ผลที่ตามมาจากการที่ศูนย์กลางความเจริญต่างๆ รวมถึงศิลปวิทยาการและแรงงานมนุษย์มากระจุกตัวกันอยู่ที่ในพื้นที่เมือง คือสิ่งอำนวยความสะดวกซึ่งต้องรองรับประชากรเมืองจำนวนมหาศาลให้เพียงพอและมีคุณภาพ ทั้งระบบโครงสร้างพื้นฐาน ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ ระบบสาธารณูปโภค ระบบสาธารณูปการ ระบบสาธารณสุข คนยิ่งเยอะ การจัดการเมืองก็ยิ่งยาก

เมื่อประชากรกับทรัพยากรมีแนวโน้มสวนทางกัน จึงเป็นที่มาของ Sustainable Development Goals หรือเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นกรอบทิศทางการพัฒนาของโลกที่องค์การสหประชาชาติ (UN) กำหนดเพื่อให้ประเทศต่างๆ นำไปวาง Action Plan ในการพัฒนาประเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยการพัฒนาอย่างยั่งยืน คือการพัฒนาที่สามารถสนองความต้องการที่จำเป็นของคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่กระทบต่อขีดความสามารถในการสนองความต้องการที่จำเป็นของคนในรุ่นต่อไป

 

ภายในงาน Bangkok Design Week 2018 เมื่อช่วงกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีนักออกแบบระดับโลกอยู่ 2 คนที่ได้มาบรรยายถึงภาพอนาคตของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดการจัดการประชากรเมืองและการออกแบบวิถีชีวิตอย่างยั่งยืน

 

โคเวอร์ พัว (Kaave Pour) Creative Director ของ SPACE10 ศูนย์วิจัยด้านการใช้ชีวิตในอนาคตของ IKEA ที่มุ่งออกแบบวิถีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ผ่านการค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในเทรนด์ระดับโลก เช่น ความมั่นคงด้านอาหาร การขยายตัวของความเป็นเมือง สุขภาพ และสุขภาวะ

SPACE10 มีบทบาทหลักในการทำวิจัยและทดลองว่า มนุษย์เราจะใช้ชีวิตอย่างไรในอีก 2-3 ทศวรรษข้างหน้า SPACE10 เจาะลึกไปยังอนาคตที่มีความเป็นไปได้จริงใน 3 แนวคิดหลักคือ สังคมหมุนเวียน (Circular Societies) การอยู่ร่วมกัน (Coexistence) และการใช้เทคโนโลยีเสริมสร้างคนและสังคม (Digital Empowerment) คนต้องอยู่ใกล้ชิดกันมากขึ้น มีการแบ่งปันกันมากขึ้น ทุกคนพร้อมที่จะแบ่งปันใช้ของร่วมกับคนอื่น นี่คือตัวอย่างที่เราคิดถึงอนาคตข้างหน้า ซึ่งคนที่เริ่มจินตนาการถึงอนาคตก็จะเป็นคนที่เริ่มสร้างอนาคตจริงขึ้นมาได้

 

แซม บารอน (Sam Baron) Creative Director และผู้ก่อตั้ง Fabrica Design Studio สถาบันออกแบบระดับโลกจากอิตาลี ซึ่งมีโอกาสได้ร่วมงานกับ AP Design Lab ในการหาคำตอบทางการออกแบบให้กับพื้นที่อยู่อาศัยในอนาคต เมื่อประชากรในเมืองเพิ่มมากขึ้นๆ พื้นที่อยู่อาศัยในเมืองก็จะยิ่งเป็นข้อจำกัดในการใช้ชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ

 

Space Scholarship เป็นโครงการให้ทุนการศึกษาในรูปแบบที่พักอาศัย แก่น้องๆ นักศึกษาจากต่างจังหวัดที่ต้องเข้ามาเรียนต่อในกรุงเทพฯ โดยโจทย์ที่ตั้งไว้คือ การออกแบบพื้นที่สำหรับเด็ก 7 คนที่มีพื้นเพภูมิหลังแตกต่างกัน ให้มาอยู่อาศัยร่วมกัน จะทำอย่างไรให้ผลลัพธ์การออกแบบตอบโจทย์การใช้ชีวิตบนข้อจำกัดด้านพื้นที่

 

แซมมองว่า ในอนาคตโจทย์การออกแบบลักษณะนี้จะกลายมาเป็นเทรนด์ที่นักออกแบบทั่วโลกต้องรับมือ “แน่นอนว่าในอนาคตพื้นที่ในการอยู่อาศัยจะน้อยลงเรื่อยๆ มันจึงเป็นที่มาของแนวคิด Co-Living Generation แนวคิดที่ว่าด้วยการใช้พื้นที่อยู่อาศัยร่วมกันของคนรุ่นใหม่ แต่สิ่งที่ต้องตามมาด้วยคือประชาธิปไตยในพื้นที่ เรื่องนี้สำคัญมาก แม้ว่าพื้นที่จะเป็นของส่วนรวม แต่ทุกคนยังต้องมีพื้นที่ในการแสดงออก ซึ่งตัวตนหน้าที่ของนักออกแบบคือการทำให้ผู้อยู่อาศัยสามารถใช้ฟังก์ชันในพื้นที่ร่วมกันได้ในแบบของตนเอง”

 

 

สิ่งสำคัญในการจัดการกับจำนวนประชากรผู้อยู่อาศัยที่หนาแน่น ภายในพื้นที่อันมีจำกัด คือการทำความเข้าใจและยอมรับในความแตกต่างของทุกๆคน ในด้านของวิถีชีวิต ความชอบ กิจกรรมส่วนตัวต่างๆ รวมๆก็คือต้องเข้าใจวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของประชากรทุกๆคน เมื่อเข้าใจแล้วจึงออกแบบพื้นที่อันจำกัดให้รองรับกับวิถีชีวิตของทุกๆคนได้อย่างพอดี ควรเป็นพื้นที่ ที่มีความยืดหยุ่นในการใช้งาน หมายถึงพื้นที่ต่างๆไม่ควรตั้งกรอบการใช้งานให้กับผู้ใช้ แต่ควรเสนอความเป็นไปได้ในหลากหลายรูปแบบมากกว่า และทุกคนควรจะสามารถใช้ชีวิตส่วนตัวของตัวเองได้อย่างสบายใจ โดยไม่รบกวนหรือเป็นอุปสรรคซึ่งกันต่อผู้อื่นรอบข้าง ใช้การออกแบบเชื่อมให้คนจากต่างวัฒนธรรมอยู่ด้วยกันได้อย่างมีความสุข

 

 

หากถอยออกมามองในภาพกว้าง ไม่ใช่แค่เรื่องของพื้นที่เท่านั้นที่ใช้ร่วมกันได้ ในเมืองเมืองหนึ่งมีผู้คนมากมายจากหลากหลายบ้านเกิดเมืองนอน หากมีการทับซ้อนแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมหรือ cross culture กัน ก็น่าจะเกิดผลลัพธ์ที่นำไปสู่มิติทางการใช้ชีวิตแบบใหม่ๆ ในอนาคตที่ทลายกรอบความคิดแบบเดิมได้

ก็ถือได้ว่า Space Scholarship ของ AP Design Lab และ Fabrica Design Studio เป็นหนึ่งใน Pilot Project สำคัญที่ช่วยให้คนทั่วไปมองเห็นสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น และเตรียมพร้อมรับมือกับอนาคต สู่หมุดหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคตต่อไป

 

อ้างอิง : readthecloud , thestandard

ความคิดเห็น