คบคิดไขข้อคล่องใจ : ทำไมโครงการที่อยู่อาศัยต้องแยกขยะ??? แยกขยะอย่างไรถึงจะถูกประเภท ???

จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่าในประเทศไทยมีขยะมูลฝอยเพิ่มขึ้นทุกปี การเพิ่มขึ้นของขยะมูลฝอย ส่วนหนึ่งมาจากการเพิ่มขึ้นของการบริโภค การขยายตัวของชุมชนเมือง และการอยู่อาศัยร่วมกันของคนจำนวนมาก

สำหรับโครงการบ้านแนวราบและโครงการคอนโดมิเนียม เป็นการอยู่อาศัยร่วมกันของคนจำนวนมาก ดังนั้นจำนวนปริมาณของขยะมูลฝอยก็ย่อมมีมากขึ้นด้วยเช่นกัน และเมื่อมีการคัดแยกขยะผิดวิธี ทำให้ขยะเหล่านี้ไม่สามารถนำไปกำจัดหรือนำไปรีไซเคิลได้ ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนไทยในปัจจุบันไม่คัดแยกขยะจากการสำรวจก็คือ การขาดสิ่งอำนวยความสะดวกในการแยกขยะ ดังนั้นโครงการต่างๆ จึงจำเป็นต้องมีการส่งเสริมให้ลูกบ้านแยกขยะ และทิ้งขยะลงถังให้ถูกประเภท

 

จะเห็นได้ว่าหลายๆ โครงการเริ่มนำถังขยะที่มีการแยกประเภทอย่างชัดเจน ตั้งไว้ในจุดต่างๆในโครงการ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้ลูกบ้านและผู้พักอาศัย มีกิจกรรมกระตุ้นให้ลูกบ้านทิ้งขยะลงถังให้ถูกประเภทอีกด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังมีหลายคนที่ยังไม่แน่ใจว่าขยะที่จะทิ้งนั้นเป็นขยะประเภทไหน??? วันนี้คบคิดจึงขอมาไขข้อข้องใจในการแยกประเภทขยะให้กระจ่างแจ้งกันนะคะ ซึ่งโดยปกติแล้วขยะนั้นแบ่งเป็นทั้งหมด 4 ประเภทใหญ่ๆด้วยกัน ก็คือ ขยะทั่วไป ขยะย่อยสลาย ขยะรีไซเคิล และขยะอันตราย

 

ขยะทั่วไป

ขยะทั่วไปมีลักษณะที่ย่อยสลายยากและไม่คุ้มค่าสำหรับการนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ เช่น ห่อพลาสติกใส่ขนม ถุงพลาสติกบรรจุผงซักฟอก พลาสติกห่อลูกอม ซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ถุงพลาสติกเปื้อนเศษอาหาร โฟมเปื้อนอาหาร ฟอล์ยเปื้อนอาหาร เป็นต้น

 

 

ขยะย่อยสลาย

ขยะย่อยสลายหรือเรียกง่ายๆก็ขยะเปียก คือขยะที่เน่าเสียและย่อยสลายได้เร็ว สามารถนำมาหมักทำปุ๋ยได้ เช่น เศษผัก เปลือกผลไม้ เศษอาหาร ใบไม้ เศษเนื้อสัตว์ เป็นต้น แต่จะไม่รวมถึงซากหรือเศษของพืช ผัก ผลไม้ หรือสัตว์ที่เกิดจากการทดลองในห้องปฏิบัติการ

 

 

ขยะรีไซเคิล

ขยะรีไซเคิลหรือขยะที่ยังนำกลับมาใช้ได้ คือ ของเสียบรรจุภัณฑ์หรือวัสดุเหลือใช้ ซึ่งสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้ เช่น แก้ว กระดาษ เศษพลาสติก กล่องเครื่องดื่มแบบ UHT กระป๋องเครื่องดื่ม เศษโลหะ อะลูมิเนียม ยางรถยนต์ เป็นต้น

 

ขยะอันตราย

ขยะอันตราย คือ ขยะที่มีองค์ประกอบหรือปนเปื้อนวัตถุอันตรายชนิดต่างๆ ซึ่งได้แก่ วัตถุระเบิด วัตถุไวไฟ วัตถุออกซิไดซ์ วัตถุมีพิษ วัตถุที่ทำให้เกิดโรค วัตถุกัมมันตรังสี วัตถุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม วัตถุกัดกร่อน วัตถุที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง วัตถุอย่างอื่นไม่ว่าจะเป็นเคมีภัณฑ์หรือสิ่งอื่นใดที่อาจทำให้เกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์สินหรือสิ่งแวดล้อม เช่น ยาหมดอายุ ถ่านไฟฉาย หลอดฟลูออเรสเซนต์ แบตเตอรี่โทรศัพท์เคลื่อนที่ ภาชนะบรรจุสารกำจัดศัตรูพืช กระป๋องสเปรย์บรรจุสีหรือสารเคมี ซึ่งรวมไปถึงซากหรือเศษของพืช ผัก ผลไม้ หรือสัตว์ที่เกิดจากการทดลองในห้องปฏิบัติการ เป็นต้น

 

 

อย่างไรก็ตามขยะส่วนใหญ่นั้นเกิดจากการใช้ชีวิตประจำวัน ดังนั้น หากเราสามารถช่วยกันแยกขยะได้ตั้งแต่ในที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นต้นทาง ก็จะมีส่วนช่วยในการจัดการขยะได้มากเลยค่ะ เพราะการคัดแยกขยะทิ้งให้ถูกประเภทจะเป็นการช่วยลดปริมาณขยะมูลฝอยได้มากเลยทีเดียว

เห็นไหมประเภทขยะนั้นแยกได้ง่ายๆกว่าที่เราคิด หากในโครงการที่พักอาศัยของคุณมีสิ่งอำนวยความสะดวกและการจัดการในการแยกขยะ ก็อย่าลืมช่วยกันแยกขยะทิ้งให้ถูกประเภทด้วยนะ และช่วยส่งเสริมให้สมาชิกในคอนโดมีส่วนร่วมในการแยกขยะด้วยนะคะ  เพื่อที่โครงการจะได้จัดการกำจัดขยะได้ง่ายขึ้นและรักษาโลกของเราให้น่าอยู่ร่วมกันค่ะ

 

 

 

ที่มา:กรมควบคุมมลพิษ

ความคิดเห็น