TBCSD Climate Action เปิดเวทีนำร่อง ยกระดับ “อสังหาฯ-ก่อสร้าง-นิคมอุตฯ” สู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ

โลกธุรกิจกำลังปรับเปลี่ยนและเดินหน้าสู่ธุรกิจสีเขียวเพื่อลดวิกฤตโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นประเด็นร้อนที่ทั่วโลกให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการมาถึงของโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้ BCG Economy Model เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้เกิดความสมดุลและการพัฒนาที่ยั่งยืน

เมื่อเร็ว ๆ นี้ องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) จัดงาน TBCSD Climate Action “ต้นแบบธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน (Low Carbon and Sustainable Business)” #Season 1: กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ก่อสร้างและนิคมอุตสาหกรรม เพื่อให้หน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินงานที่ส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงบทบาทขององค์กรภาคธุรกิจไทยในการร่วมแก้ไขปัญหาสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมและยกระดับมาตรฐานขององค์กรภาคธุรกิจไทยสู่การเป็นองค์กรต้นแบบธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) และเลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญทั้งในระดับประเทศระดับภูมิภาคและระดับโลก ซึ่ง TBCSD เป็นเครือข่ายธุรกิจด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดเครือข่ายหนึ่งของประเทศได้มีความมุ่งมั่นที่จะร่วมขับเคลื่อนแก้ไขประเด็น Climate Change อย่างเป็นรูปธรรม โดยร่วมมือกับหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องและกลุ่มองค์กรสมาชิก TBCSD กว่า 43 องค์กร ครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรมหลักของประเทศ เพื่อกำหนด Climate Action ให้ชัดเจน ด้วยการกำหนดเป้าหมาย มาตรการ และกรอบกิจกรรมที่ภาคธุรกิจสามารถดำเนินการร่วมกันเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนองค์กรสู่ต้นแบบธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน พร้อมสร้างความรู้ ความเข้าใจการดำเนินงานของภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อร่วมกันขยายผลและผลักดันเป็นระดับนโยบายของประเทศ อันเป็นการแสดงออกถึงพลังจากการรวมตัวขององค์กรภาคธุรกิจไทยในการขับเคลื่อนสู่สังคมคาร์บอนต่ำและสร้างสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

· ก๊าซเรือนกระจกตัวการใหญ่ Climate Change

นายธีรพงษ์ เหล่าพงศ์พิชญ์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานนโยบายและยุทธศาสตร์ กองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวว่า สผ. ได้จัดทำนโยบายและแผนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติ โดยให้ความสำคัญทั้งมิติด้านการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) มิติด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงมิติด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อสนับสนุนและยกระดับการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศให้บรรลุเป้าหมาย

ด้านนายนพรัตน์ พรหมอินทร์ ผู้จัดการสำนักส่งเสริมตลาดคาร์บอนและนวัตกรรม องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ภาคธุรกิจสามารถรับมือกับความท้าทายและความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งทางกายภาพ กฎระเบียบและมาตรการต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ผ่านการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกที่ดี นำไปสู่การดำเนินธุรกิจที่คาร์บอนต่ำและยั่งยืนที่สามารถสร้างโอกาสและลดความเสี่ยงทางธุรกิจ และส่งเสริมการส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยและประชาคมโลก ซึ่งการกำหนดเป้าหมายบนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้องค์กรธุรกิจสามารถกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่สอดคล้องกับเป้าหมายตามบริบทสากลตอบโจทย์เรื่องการรายงาน การเปิดเผยข้อมูล และสะท้อนถึงแนวทางการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกได้เป็นอย่างดี

· อสังหาฯ-ก่อสร้าง-นิคมอุตสาหกรรมเร่งยกระดับสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ

ดร.วันเฉลิม ชโลธร ประธานคณะทำงาน TCMA on Sustainability สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) กล่าวว่า การลดก๊าซเรือนกระจกเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของ TCMA โดยทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาควิชาชีพภาคอุตสาหกรรม ภาคการศึกษา รวมถึงองค์กรระดับโลก นอกจากนี้ ยังเป็นอุตสาหกรรมแรกของไทยที่จัดทำ Thailand Net Zero Cement & Concrete Roadmap 2050 มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการมุ่งสู่ Net Zero ในปี 2050 ซึ่งเป็นความท้าทายที่ TCMA มุ่งมั่นดำเนินการเชิงรุกร่วมกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศให้สำเร็จตามเป้าหมายเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศในระยะยาว

นายสมสกุล แสงสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานออกแบบผลิตภัณฑ์ บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยการส่งมอบสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนธุรกิจสู่กระบวนการ Low Carbon รวมทั้งให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อมในทุกขั้นตอนของการพัฒนาโครงการ โดยมีเป้าหมายที่จะนำไปสู่การเป็น Zero-Carbon Ecosystem ผ่านมิติของพลังงานที่สร้างความยั่งยืนในการอยู่อาศัยให้เกิดขึ้นได้จริง

ด้านนายชนะ ภูมี Cement and Green Solution Business, Vice President-Cement & Building Material, SCG กล่าวว่า SCG ดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม โดยยึดหลัก ESG 4 plus ประกอบด้วย 1) มุ่ง Net Zero 2) Go Green 3) Lean เหลื่อมล้ำ และ 4) ย้ำร่วมมือ กับหน่วยงานต่าง ๆ ในการพัฒนาโซลูชั่นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป้าหมาย Net Zero เป็นเรื่องระยะยาวที่ภาครัฐและภาคเอกชนต้องทำงานร่วมกันและต้องมีแผนงานที่ชัดเจนและต่อเนื่อง

นายธนสิษฐ์ สุจริตจันทร์ South East Asia Business Excellence Director องค์กร กลุ่มบริษัท แซง-โกแบ็ง ประเทศไทย กล่าวว่า แซง-โกแบ็ง ให้ความสำคัญกับการยกระดับผลิตภัณฑ์สู่ความยั่งยืนและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ด้วยการประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การผลิต การขนส่ง การใช้ผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการนำไปกำจัดแบบครบวงจร เป็นมาตรฐานในการคำนวณ ชี้วัด และเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนภาคการก่อสร้างของประเทศไทยให้อยู่ในระดับมาตรฐานสากล

ปิดท้ายที่นางบุปผา กวินวศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า กนอ. มุ่งมั่นขับเคลื่อนและผลักดันอุตสาหกรรมเชิงนิเวศสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน เป็นผู้นำในการลดก๊าซเรือนกระจก โดยสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับทุกภาคส่วน การส่งเสริมการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และมีส่วนร่วมจัดทำมาตรการหรือสิทธิประโยชน์เพื่อสร้างแรงจูงใจผู้ประกอบการ การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ นิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ โรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และโรงงานอัจฉริยะเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรม นำไปสู่การเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน

การแก้ไขปัญหา Climate Change เพื่อก้าวสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำเป็นความ “ท้าทาย” ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ร่วมด้วยช่วยกันให้ผ่านพ้นวิกฤติ เพื่อให้โลกน่าอยู่ยิ่งขึ้นและธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้ด้วยเช่นกัน

 

ความคิดเห็น