Plus Property ยกกรณีศึกษาเหตุเพลิงไหม้ตึกสูงในลอนดอน แนะตึกเก่า-ตึกสูงใน กทม. เร่งตรวจสอบระบบป้องกัน

พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารและจัดการอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร แนะผู้ดูแลอาคารในประเทศไทยนำเหตุเพลิงไหม้เกรนเฟลล์ ทาวเวอร์ กรุงลอนดอน เป็นกรณีศึกษา ชี้อาคารเก่าและตึกสูง เร่งตรวจสอบระบบป้องกันอัคคีภัย หลังสำรวจพบอาคารสูงในกรุงเทพฯ มากกว่า 60% เป็นอาคารเก่าอายุกว่า 20 ปี พร้อมแนะตรวจสอบระบบทางหนีไฟและระบบเตือนภัยให้พร้อมใช้งานได้เสมอ ทำบัญชีอายุการใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ และเปลี่ยนอุปกรณ์เมื่อครบอายุเพื่อลดความเสี่ยง

 

นายชาญ ศิริรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายบริหารทรัพยากรอาคารและวิศวกรรม บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารและจัดการอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร เปิดเผยว่า  จากเหตุเพลิงไหม้ เกรนเฟลล์ ทาวเวอร์ ที่เป็นอาคารสูง 24 ชั้น ตั้งอยู่ใจกลางกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษนั้น นับเป็นเพลิงไหม้ครั้งรุนแรงเท่าที่เคยเกิดขึ้นในอังกฤษ ถือเป็นเหตุการณ์ที่ผู้ดูแลอาคารสูงในประเทศไทยควรนำมาเป็นกรณีศึกษา และหาแนวทางป้องกันเหตุอันไม่คาดฝันไม่ให้เกิดซ้ำรอยขึ้น

 

สำหรับเหตุการณ์เพลิงไหม้เกรนเฟลล์ ทาวเวอร์นั้น จากรายงานข่าวระบุว่า วันเกิดเหตุผู้อยู่อาศัยไม่ได้ยินสัญญาณการเตือนภัย และทางหนีไฟมีสิ่งกีดขวางจากวัสดุการปรับปรุงอาคารเมื่อ 2 ปีก่อน ไม่เพียงเท่านั้น มีผู้เชี่ยวชาญยังตั้งข้อสังเกตว่าวัสดุที่นำมาปรับปรุงอาคารยังเป็นวัสดุติดไฟง่าย จึงทำให้เปลวไฟลุกลามอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามคงต้องรอผลสรุปอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานที่ดูแลต่อไป

 

สำหรับประเทศไทย โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครที่เป็นเมืองหลวงที่มีอาคารสูงอยู่เป็นจำนวนมาก และข้อมูลจากฝ่ายวิจัยและพัฒนาของพลัส พร็อพเพอร์ตี้ ที่ได้ทำการสำรวจตลาดอาคารในกรุงเทพฯ พบว่ามีจำนวนมากกว่า 3,000 อาคาร (อาคารสูง 7 ชั้น และสูงเกิน 30 ชั้น) แบ่งเป็นอาคารใหม่อายุต่ำกว่า 10 ปี ซึ่งมีไม่ถึง 1,000 อาคาร (33%) และที่น่าเป็นห่วงคืออาคารส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ มีอายุราว 20 ปี ส่วนใหญ่เป็นอาคารเก่าที่อาจมีความเสี่ยงในด้านไฟฟ้าลัดวงจร หรือเหตุการณ์ไฟไหม้ เนื่องจากระบบต่างๆ ถูกใช้งานมานาน จำเป็นจะต้องมีการตรวจสอบ-ปรับปรุงระบบและอุปกรณ์ให้มีความพร้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญมาจัดระบบวิศวกรรมอาคารให้สามารถใช้งานได้เหมาะสม มีต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะช่วยเพิ่มมูลค่าของค่าเช่าให้กับเจ้าของอาคารได้ในระยะยาว   อย่างไรก็ตาม อาคารขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นใหม่ในปัจจุบัน อาจจะมีความเสี่ยงในปัญหาอัคคีภัยน้อยกว่าอาคารเก่า เนื่องจากมีกฎหมายบังคับให้ออกแบบและวางระบบป้องกันแจ้งเตือนดับเพลิงได้ดี แต่กรณีที่บางอาคารเกิดเหตุและไม่สามารถควบคุมเพลิงได้ทันนั้น เนื่องจากไม่มีการตรวจสอบและทดสอบการทำงานของระบบแจ้งเตือนเหตุเพลิงไหม้ (Fire Alarm) และระบบระงับเหตุเพลิงไหม้ (Sprinkler) อย่างสม่ำเสมอ ทำให้เกิดความบกพร่องไม่ว่าจะเป็นระบบการแจ้งเตือนเหตุ ระบบสัญญาณเตือนภัยและท่อน้ำดับเพลิง เป็นต้น ฉะนั้น จึงสรุปได้ว่า โครงสร้างระบบอาคารที่มีประสิทธิภาพและผู้ดูแลอาคารที่มีความเชี่ยวชาญคือหัวใจสำคัญของงานบริหารจัดการอาคาร เพื่อที่จะดูแลบำรุงรักษาให้ระบบมีความพร้อมต่อการใช้งานได้ตามมาตรฐานสากล

 

“สำหรับกรณีอาคารที่จะปรับปรุง ควรให้ความสำคัญกับการส่งต่อข้อมูลอาคารเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการใช้งาน เช่น การกั้นผนังอาคารขึ้นใหม่ที่อาจจะไปขัดขวางการกระจายน้ำของระบบสปริงเกอร์ และขาดอุปกรณ์ตรวจจับควัน ตรวจจับความร้อน ดังนั้นเมื่อมีการปรับปรุงอาคารจะต้องแจ้งข้อมูลแก่ผู้ออกแบบปรับปรุง เพื่อให้ระบบป้องกันอัคคีภัยที่ออกแบบไว้สำหรับรูปแบบอาคารเดิมได้รับการเปลี่ยนแปลงและสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ครอบคลุมทุกพื้นที่ปรับปรุง นอกจากนี้ ผู้ดูแลอาคารต้องทำการสำรวจทางหนีไฟอย่างสม่ำเสมอว่ามีสิ่งกีดขวาง เช่น อาจจะมีคนนำโต๊ะหรือเก้าอี้ไปวางทิ้งไว้ รวมถึงประตูสามารถเปิดใช้งานได้ตามปกติหรือไม่ ระบบเตือนภัยใช้งานได้เป็นปกติหรือไม่ อีกทั้งควรสำรวจและทำบัญชีด้านอายุการใช้งานของอุปกรณ์สำคัญต่างๆ และทำการเปลี่ยนอุปกรณ์เมื่อครบอายุการใช้งาน โดยเฉพาะอุปกรณ์เกี่ยวข้องกับระบบไฟฟ้า ซึ่งในภาพรวมแล้วหากมีระบบป้องกันอัคคีภัยที่ได้มาตรฐานและการดูแลรักษาที่ถูกต้องเป็นประจำ ก็จะช่วยบรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น และระงับเหตุได้อย่างรวดเร็ว” นายชาญ กล่าว

 

ที่มา : บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด

วันที่ 20 มิถุนายน 2560

 

ความคิดเห็น