เผยดีไซน์ใหม่ "โครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา"

“สจล.-สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง” และ “มหาวิทยาลัยขอนแก่น” ได้เผยแบบร่างในการพัฒนาโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ภายใต้การปรับปรุงจากการรวบรวมข้อมูลและความเห็นที่ได้รับจาก กทม. ในเฟสแรก ระยะทาง 14 กม.

โครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา-001

 

ตามกำหนดผลการศึกษาโครงการจะแล้วเสร็จเดือน ก.ย.นี้ ขณะที่ความคืบหน้า “รศ.ดร.สกุล ห่อวโนทยานกุล” ผู้จัดการโครงการ เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่ทั้ง 33 ชุมชนแล้ว 4 ครั้ง เพื่อนำข้อมูลจัดทำผังแม่บทในพื้นที่นำร่องเฟสแรก ระยะทาง 14 กม. (รวม 2 ฝั่งแม่น้ำ) ตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ขณะนี้ได้รูปแบบเบื้องต้นและแผนงานทั้งสิ้น 12 แผนงาน

ประกอบด้วย

1.พัฒนาพื้นที่ชุมชน จะฟื้นฟูและอนุรักษ์วัฒนธรรม รวมถึงสืบสานวิถีชีวิตของชุมชน ให้เป็นแหล่งเรียนรู้และท่องเที่ยว

2.พัฒนาจุดหมายตามริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ พิพิธภัณฑ์กรุงเทพมหานคร, สวนเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 7, พิพิธภัณฑ์มรดกเจ้าพระยา, ศูนย์ศิลปะการแสดงแห่งชาติและพิพิธภัณฑ์โรงเรือพระราชพิธี นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับพื้นที่ที่มีเอกลักษณ์ ด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม และเขตพระราชฐาน

3.พัฒนาท่าเรือ ให้เป็นจุดเชื่อมต่อการสัญจรทางน้ำที่ประชาชนได้รับความสะดวก ปลอดภัย และปรับปรุงรูปแบบสถาปัตยกรรมให้มีความสอดคล้อง เป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่

4.พัฒนาเส้นทางให้เข้าถึงพื้นที่ เช่น ปรับปรุงตรอกซอกซอย และเข้าถึงพื้นที่ริมแม่น้ำ

5.พัฒนาทางเดินริมแม่น้ำ เชื่อมต่อพื้นที่มรดกวัฒนธรรมต่าง ๆ ทั้งสองฝั่งเข้าด้วยกัน มีทางเดินเลียบแม่น้ำและทางเดินบนดิน เช่น จากสะพานพระราม 8 ถึงวัดบวรมงคล และบางอ้อ ถึงวัดวิมุตยาราม จะประกอบด้วย ทางเท้า ทางจักรยาน จุดชมทัศนียภาพ สะพานข้ามคลอง ฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลนริมน้ำ

6.ปรับปรุงภูมิทัศน์เขื่อนให้มีทัศนียภาพที่สวยงาม ซ่อมแซมเขื่อนที่ชำรุด ก่อสร้างส่วนที่ยังไม่ได้ดำเนินการให้เสร็จสมบูรณ์

7.พัฒนาศาลาริมน้ำ ให้เป็นจุดพักผ่อน ศาลาคอย

8.การพัฒนาพื้นที่บริการสาธารณะ เช่น ศูนย์บริการความช่วยเหลือ ข้อมูลท่องเที่ยว จุดบริการจักรยาน

9.พัฒนาพื้นที่ศาสนสถาน การออกแบบพัฒนาภูมิทัศน์ให้คำนึงถึงคุณค่าและเคารพต่อศาสนา

10.พื้นที่แนวคูคลองประวัติศาสตร์ จะปรับปรุงภูมิทัศน์ริมฝั่งคลอง รวมถึงการใช้ประโยชน์พื้นที่ริมคลอง ด้านการสัญจรและการท่องเที่ยว

11.พัฒนาพื้นที่นันทนาการและสวนสาธารณะริมน้ำ โดยใช้พื้นที่ว่างและสาธารณะด้านหลังเขื่อน รองรับกิจกรรมนันทนาการ ลานกีฬาและสวนสาธารณะ รวมถึงแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังและเน่าเสียหลังเขื่อน

และ 12.สร้างสะพานคนเดิมข้ามใหม่ 2 จุด คือ จากชุมชนสะพานพิบูลฝั่งซ้าย ข้ามไปยังท่าเรือวัดฉัตรแก้วจงกลณี ฝั่งธนบุรี และจากห้างแม็คโคร สามเสน ข้ามไปยังท่าทราย ซอยจรัญสนิทวงศ์ 84 โดยแนวจะสร้างร่วมกับถนนเดิมที่มีอยู่ ให้เป็นรูปแบบสะพานที่คนสามารถเดินข้ามได้

โครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา-002

โครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา-003

 

ส่วนรูปแบบของทางเดินและทางจักรยานจะมีขนาด 7-10 เมตร แล้วแต่ความเหมาะสมของพื้นที่ รวมถึงสร้างต่ำกว่าแนวเขื่อนเดิมประมาณ 1.2-1.3 เมตร โดยความสูงของเขื่อนจะสูงเฉลี่ยอยู่ที่ 2.7 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เสาที่ปักลงแม่น้ำมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 80 เซนติเมตร ถือว่ามีขนาดเล็กไม่รบกวนการไหลของน้ำ ซึ่งการออกแบบจะเริ่มทยอยเสร็จในเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้

สำหรับพื้นที่พิเศษ 5 แห่ง คือ รัฐสภา วังเทวะเวสม์ ท่าวาสุกรี วังศุโขทัย และธนาคารแห่งประเทศไทย เนื่องจากเป็นพื้นที่อ่อนไหว ขณะนี้ได้ส่งรูปแบบการพัฒนาให้แต่ละหน่วยงานพิจารณาแล้ว

ทั้งนี้จะมีการจัดรับฟังความคิดเห็นประชาชนครั้งที่ 3 ในช่วงต้นเดือน ก.ย.เพิ่มจากทีโออาร์ที่กำหนดให้จัดขึ้น 2 ครั้ง โดยจะนำข้อเสนอในครั้งนั้นมาพิจารณาปรับปรุงเป็นครั้งสุดท้าย และส่งมอบงานทั้งหมดให้ กทม. ปลายเดือน ก.ย.

“ก.ย.นี้จะสรุปเงินลงทุนโครงการด้วย ยังไม่สรุปชัดเจนจะเพิ่มขึ้นหรือน้อยกว่าเดิมที่ กทม.กำหนดไว้เบื้องต้นที่ 1.4 หมื่นล้านบาท”

แผนงานการจัดทำทางเดินริมแม่น้ำ

โครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา-004

 

แบบร่างทัศนียภาพการออกแบบเบื้องต้น

โครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา-005

โครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา-006

โครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา-007

โครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา-008

 

เมื่อถามถึงความจำเป็นของโครงการ “รศ.ดร.สกุล” ย้ำว่า ไม่สามารถให้คำตอบแทนรัฐบาลได้ เนื่องจากเป็นนโยบาย แต่สิ่งที่สำคัญคือ ประชาชนสามารถเข้าถึงริมแม่น้ำเจ้าพระยาได้มากขึ้นอย่างแน่นอน

เป็นความคืบหน้าล่าสุด หลัง “รัฐบาล คสช.” วาดฝันจะตอกเข็มตั้งแต่ปลายปี 2558 แต่ก็เลื่อนมาเป็นระลอก ส่วนโปรเจ็กต์จะไปได้ไกลจนปักตอม่อในปีหน้า หรือสุดท้ายจะเป็นได้แค่ผลศึกษา กาลเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ และ โพสต์ทูเดย์
วันที่ 31 กรกฎาคม 2559

ความคิดเห็น