รถไฟงัดที่ดินสถานีธนบุรี ดึงเอกชนลงทุน 30 ปี ปั้นมิกซ์ยูสศูนย์สุขภาพ 3.4 พันล้าน

บอร์ดรถไฟเคาะที่ดินสถานีธนบุรี 21 ไร่ ลงทุน 34 ปี ผุดมิกซ์ยูส-ศูนย์สุขภาพ กำชับทำ Market Sounding ก่อนเปิดประมูลหวั่นซ้ำรอยแปลง A เปิดประมูลปี’64-69

.

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท. เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2563 มีมติเห็นชอบผลการศึกษาและดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณบ้านพักพนักงานย่านสถานีธนบุรี พื้นที่ 21 ไร่ 3 งาน 65.22 ตารางวา ซึ่งปัจจุบันเป็นบ้านพักของพนักงานรถไฟ โดยรูปแบบการพัฒนาจะเป็นมิกซ์ยูส โดยมีทั้งเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์, โรงแรม และศูนย์สุขภาพ (Health&Wellness Hub) มูลค่าโครงการรวม 3,341.56 ล้านบาท

 

สำหรับการพัฒนาแบ่ง 4 โซน พื้นที่ก่อสร้างรวม 110,458 ตร.ม. ได้แก่

1. โรงแรมและรีเทล 6 ไร่ ลงทุน 1,309 ล้านบาท พื้นที่ก่อสร้าง 40,360 ตร.ม. รองรับญาติผู้ป่วยโรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลธนบุรี ค่าห้องไม่เกิน 1,000 บาท/คืน

2. ศูนย์พักฟื้นสุขภาพ 4 ไร่ ลงทุน 879 ล้านบาท พื้นที่ก่อสร้าง 21,096 ตร.ม. รองรับผู้ป่วยพักฟื้นและดูแลสุขภาพโรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลธนบุรี ค่าห้อง 40,000-60,000 บาท/เดือน

3. เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์และที่อยู่ผู้สูงวัย 3 ไร่ ลงทุน 754 ล้านบาท พื้นที่ก่อสร้าง 22,108 ตร.ม. รองรับกลุ่มแพทย์ และผู้สูงวัยย่านฝั่งธนบุรี ค่าเช่า 30,000-50,000 บาท/เดือน และ

4. บ้านพักพนักงานรถไฟ 6 ไร่ เอกชนจะสร้างที่พักอาศัยสูง 13 ชั้น 315 ห้อง พื้นที่ใช้สอย 35-50 ตร.ม. พร้อมที่จอดรถ 265 คัน วงเงิน 425 ล้านบาท ทดแทนบ้านพักเดิม

 

รูปแบบของการลงทุนโครงการ จะใช้วิธีประมูลและให้สิทธิ์การเช่า 34 ปี ก่อสร้าง 4 ปี บริหาร 30 ปี ภายใต้ระเบียบของ ร.ฟ.ท. ไม่เป็นการร่วมทุนแบบ PPP โดยมูลค่าโครงการ ประกอบด้วย

1.ค่ารื้อย้ายและก่อสร้างอาคารทดแทนชั่วคราว 71 ล้านบาท

2.ก่อสร้างอาคารบ้านพักพนักงานใหม่จำนวน 315 ยูนิต วงเงิน 371 ล้านบาท

3.อัตราค่าตอบแทนมูลค่าทรัพย์สิน (ROA : Return on Asset) ในรูปแบบของค่าเช่าที่ดินตลอดระยะเวลา 30 ปี ในอัตรา 65% ของมูลค่าทรัพย์สินที่เช่า คิดเป็นวงเงิน 1,125.56 ล้านบาและ

4.มูลค่าที่ดินรวม 1,770 ล้านบาท ซึ่งไม่มีปัญหาด้านผู้บุกรุกและตัวสถานีธนบุรีก็ไม่ติดปัญหาด้านเป็นโบราณสถานของกรมศิลปากร จึงสามารถดำเนินการได้ทันที

 

“ที่ดินดังกล่าวมีศักยภาพ อยู่ใกล้กับโรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลธนบุรี และในอนาคตจะมีรถไฟฟ้า 2 ระบบผ่านคือ สายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช และสายสีส้มตะวันตกช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์“

หลังจากให้ที่ปรึกษาไปจัดการรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) อีกครั้งหนึ่งก่อนเปิดประมูล เพื่อรับฟังและประเมินความสนใจก่อน เพราะการทำ Market Sounding ครั้งที่แล้วเป็นช่วงก่อนโควิดระบาด ก็คาดว่าน่าออกทีโออาร์ได้ภายในปี 2564 และให้ดูภาวะเศรษฐกิจประกอบการเปิดเประมูลด้วย เพราะไม่อยากให้ซ้ำรอยกรณีแปลง A สถานีกลางบางซื่อ

ด้านแหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท. ระบุกับว่า ไทม์ไลน์คร่าว ๆ ของโครงการ คาดว่าจะเริ่มการทำ Market Sounding ได้ก่อนสิ้นปี 2563 นี้ จากนั้นจะใช้เวลาช่วงต้นปี 2564 เพื่อร่างทีโออาร์ คาดว่าจะประกาศทีโออาร์เพื่อหาตัวเอกชนลงทุนในโครงการประมาณช่วงกลางปี 2564 และคาดว่าน่าจะได้ตัวในช่วงปลายปีเดียวกัน ก่อนที่เริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2565 ใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี เปิดบริการปี 2569

 

 

 

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ

วันที่ 12 พฤศจิกายน 2563

 



 

ความคิดเห็น