ร่างผังเมืองใหม่ปี 2563 เน้น "เมืองกระชับ" มาพร้อมกับรถไฟฟ้ากว่า 319 สถานี

 

ผังเมืองกรุงเทพมหานครฉบับปี 2556 กำลังจะหมดอายุลง สำนักผังเมืองกรุงเทพฯ จึงเสนอ ผังเมืองใหม่ปี 2563 ด้วยแนวคิด “เมืองกระชับ” เพื่อพัฒนาพื้นที่ในเขตปริมณฑลให้เชื่อมโยงกันได้อย่างไร้รอยต่อ รองรับการขยายตัวของเมืองให้สอดรับกับเครือข่ายเส้นทางของรถไฟฟ้าทั้งหมด 12 เส้นทาง 319 สถานี มีสถานีที่ตัดกัน 39 สถานี รวมระยะทางกว่า 508 กิโลเมตร

 

นอกจากจะสร้างรถไฟฟ้ากว่า 12 เส้นทางแล้ว ยังสนับสนุนให้มีการพัฒนารอบๆ สถานีรถไฟฟ้าเป็นระยะทาง 500 เมตร ด้วยมาตรการจูงใจต่างๆ อาทิ

– มาตรการโอนสิทธิการพัฒนา (TDR)

– มาตรการพัฒนาที่ดินแปลงใหญ่ (PUD)

– มาตรการส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้า (TOD)

 

ไม่เพียงแต่เส้นทางรถไฟฟ้าเองที่ผังเมืองฉบับใหม่นี้ให้ความสำคัญ เพราะเส้นทางน้ำเองก็จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เพื่อให้ผู้คนได้เข้าถึงระบบขนส่งมวลชนยิ่งขึ้น เน้นการธุรกิจ การค้า การบริการ การนันทนาการต่างๆ และส่งเสริมให้มีพื้นที่พาณิชยกรรมทางน้ำ ด้วยการปรับพื้นที่บริเวณสถานี ดังนี้

– สถานีรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงสถานีบางกะปิ – มีนบุรี

– สถานีรถไฟฟ้าสายสีเทาช่วงสถานีวัชรพล – พระโขนง, ช่วงสถานีพระราม 9 – ท่าพระ

– สถานีรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงสถานีแบริ่ง – สมุทรปราการ

– รวมไปถึงที่ดินบริเวณฝั่งเหนือของกรุงเทพฯ เองก็มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับการขยายตัวของรถไฟฟ้าสายสีเขียวอ่อน สายสีเหลือง สายสีน้ำตาล และสายสีชมพู ให้เป็นพื้นที่สีส้ม (ที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง) เพื่อรองรับที่อยู่อาศัย

 


 

การพัฒนาพื้นที่ธุรกิจ

 

การพัฒนาพื้นที่ต่างๆ กำลังขยายออกไปตามเส้นทางของรถไฟฟ้า ไม่ว่าจะผ่านทางไหน ย่อมนำความเจริญตามไปด้วยทุกที่ และเมื่อพื้นที่โดยรอบเหล่านี้เจริญแล้ว ประชาชนไม่จำเป็นต้องเสียเวลาเข้าไปในเมืองเลย เพราะในอนาคตเขตชานเมืองเองก็จะยกระดับให้มีความเพียบพร้อมในทุกด้าน รวมถึงส่งเสริมด้านพาณิชยกรรมพิเศษด้านนวัตกรรมสร้างสรรค์ในเขตเจริญกรุง และคลองสาน ย่านชุมชน (บ้าน วัด โรงเรียน) ในพื้นที่สีเขียวทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออกของกรุงเทพฯ โดยมีสถานีจุดตัด 8 สถานีที่จะปรับผังเมืองให้กลายเป็นสีส้ม (พื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง) ดังนี้

– มีนบุรี

– สะพานใหม่

– บางแค

– ลาดกระบัง

– ตลิ่งชัน

– บางขุนเทียน

– บางนา – ศรีนครินทร์

– หนองจอก

 

นอกจากนี้ กรุงเทพฯ ยังมีแผนพัฒนาพื้นที่เฉพาะ ให้ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาเมืองกระชับด้วย อาทิ

– โครงการนำร่องภายใต้แผนแม่บทอนุรักษ์ฟื้นฟูย่านกะดีจีน-คลองสาน

– การปรับปรุงสายรถไฟฟ้าลาวาลินเดิมให้เป็นแลนด์มาร์คจุดท่องเที่ยวใหม่ในย่านกะดีจีน-คลองสาน

– สร้างพื้นที่นำร่องสมาร์ทซิตี้ของที่เขตปทุมวัน ซึ่งเป็นย่านเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่มีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอด โดยเฉพาะนักท่องเที่ยว ทั้งยังเป็นพื้นที่ขับเคลื่อนทางการศึกษาที่สำคัญอีกด้วย

– การพัฒนาคลองซุงเป็นถนนคนเดิน

– การพัฒนาท่าเรือและทางเดินเรียบคลองแสนแสบ

– การพัฒนาพื้นที่สถานีกลางบางซื่อให้เป็นศูนย์กลางคมนาคมแห่งใหม่ของประเทศ

– ปรับปรุงภูมิทัศน์ทางสัญจรบนโครงสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณช่องกลางสะพานพระปกเกล้า

 


 

โซนที่อยู่อาศัย

 

ในพื้นที่ด้านตะวันตกของกรุงเทพฯ เปลี่ยนสีการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม (ก.1 – ก.2) เปลี่ยนเป็นพื้นที่สีเหลือง และเขตตลิ่งชันส่วนที่ผ่านรถไฟฟ้าสีน้ำเงิน (บางซื่อ – ท่าพระ) เปลี่ยนเป็นพื้นที่สีส้ม

 

ส่วนในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น วัดจากแนวถนนวงแหวนรัชดาภิเษก ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่สีแดง ค่อนข้างส่งเสริมศูนย์พาณิชยกรรมใหม่ (New CBD) อย่างพระราม 9 และรัชดาภิเษก ทั้งยังส่งเสริมศูนย์พาณิชยกรรมรอง (Sub CBD) บริเวณศูนย์คมนาคมพหลโยธิน (บางซื่อ) ศูนย์คมนาคมมักกะสัน และศูนย์คมนาคมตากสินบริเวณวงเวียนใหญ่ด้วย

 

การปรับผังเมืองทำให้บริเวณที่มีคนอยู่อาศัยเพิ่มขึ้น เช่น โซนตะวันออกของกรุงเทพฯ จะเปลี่ยนจากโซนสีเหลือง (ที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย) มาเป็นสีส้ม (ที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง) ทำให้มีการกระจายที่อยู่อาศัยมากขึ้น แต่ในโซนสีน้ำตาล (ที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก) ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมากมายนัก และแน่นอนว่าโซนสีแดง (พื้นที่สำหรับพาณิชยกรรม) เพิ่มขึ้น 9% จากแผนพัฒนาผังเมืองใหม่นี้

 

 

มาดูกันว่า ผังเมืองใหม่ปี 2563 นี้จะกระชับเมืองให้ไร้รอยต่อได้มากแค่ไหน ถึงอย่างไรก็ช่วยเรื่องการคมนาคมได้มากทีเดียว หากรถไฟฟ้าเสร็จครบทั้ง 319 สถานีแล้ว ไม่ใช่แค่ในกรุงเทพที่เชื่อมต่อกันทุกตารางเมตร แต่จะเชื่อมโยงเครือข่ายการคมนาคม ให้ครอบคลุมชานเมืองและปริมณฑลให้ใกล้กันมากยิ่งขึ้น แต่ในส่วนอื่นๆ ของผังเมือง ก็ต้องดูกันต่อไปว่าจะมีผลดีหรือผลเสียอย่างไรบ้าง 

 

 

อ้างอิง : www.cbre.co.th , www.daily.bangkokbiznews.com , www.news.thaipbs.or.th , www.areaguru.net

 

 



 

 

ความคิดเห็น