ปิดฉาก "บีอาร์ที" กทม. มีมติยกเลิกหลังหมดสัญญา 30 เม.ย.นี้ คืนเลนจราจรให้รถยนต์

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน รองผู้ว่ากรุงเทพมหานคร (กทม.) แถลงภายหลังประชุมคณะผู้บริหาร กทม.ว่า กทม.ตัดสินใจยกเลิกโครงการรถโดยสารด่วนพิเศษ หรือ บีอาร์ที หลังดำเนินการในระยะหนึ่งแล้วพบว่าต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายปีละ 200 ล้านบาท อีกทั้งพบว่าไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาจราจรที่แท้จริง แต่กลับเป็นการเพิ่มปัญหาให้ประชาชนในเส้นทางเดินรถ โดยเฉพาะบริเวณสถานีสาทร สถานีรถไฟฟ้าช่องนนทรี และถนนนราธิวาสราชนครินทร์ เนื่องจากบีอาร์ทีต้องใช้ผิวจราจร 1 เลน ร่วมกับรถยนต์ทั่วไป อีกทั้งยังมีรถบางคันเข้ามาวิ่งในเลนบีอาร์ทีจนทำให้รถโดยสารด่วนพิเศษใช้เวลาเดินทางไม่ต่างกับรถโดยสารธรรมดา

“นอกจากนี้ สำรวจพบว่า มีประชาชนใช้บริการทั้งสิ้นเฉลี่ยวันละ 25,000 คน แต่ส่วนหนึ่งเป็นนักเรียนที่ได้รับสิทธิใช้บริการฟรีในช่วงเช้า และผู้สูงอายุที่ได้รับสิทธิลดหย่อนค่าโดยสาร ทำให้การให้บริการไม่ตรงตามกลุ่มเป้าหมาย และขาดทุนสะสมต่อเนื่องปีละประมาณ 200 ล้านบาท ตั้งแต่เปิดใช้งาน อีกทั้งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทำหนังสือให้ กทม.ทบทวนโครงการ คณะกรรมการบริหารระบบขนส่งมวลชน กทม.จึงได้หารือร่วมกันเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ได้ข้อสรุปว่าจะยกเลิกโครงการเมื่อครบสัญญาในเดือนเมษายน 2560 นี้ โดยเบื้องต้น

1. กทม.จะประชาสัมพันธ์สร้างความรับรู้ให้กับผู้ใช้บริการ

2. ให้สำนักงานจราจรและขนส่ง กทม. ประสานกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) นำรถประจำทางไปวิ่งแทนบีอาร์ที

3. คงสภาพสถานีบีอาร์ที โดยปรับเป็นป้ายรถประจำทาง

4. คืนผิวจราจรให้ประชาชนโดยรื้อถอนอุปกรณ์ที่อยู่บนพื้นผิวจราจรออกทั้งหมด” พล.ต.ท.อำนวย กล่าวและว่า ในเร็วๆ นี้จะมีการพิจารณายกเลิกทางจักรยานในถนนบางสายที่เข้าข่ายก่อให้เกิดอันตรายกับผู้ใช้จักรยานและประชาชนที่เดินเท้าด้วย

ที่มา มติชน

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560

 

ความคิดเห็น