ปตท.จับมือ ญี่ปุ่น ลุยโครงการ “สมาร์ทซิตี้” 2 พันไร่ บนพื้นที่บางซื่อ มูลค่ากว่า 5 แสนล้าน

เปิดพิมพ์เขียวแผนพัฒนาที่ดินและคมนาคมย่านพหลโยธิน-บางซื่อ มูลค่าการลงทุนกว่า 5 แสนล้าน เตรียมยกระดับทำเลบางซื่อ 2.3 พันไร่ ไจก้าชูสร้างฮับระบบราง ต้นแบบเมืองอัจฉริยะของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน จับตาพันธมิตรคู่ใหม่ “ปตท.” จับมือ “ทุนญี่ปุ่น” ร่วมมือลุยโครงการสมาร์ทซิตี้ เมกะโปรเจ็กต์ใหญ่สุด เผยแผนลงทุน 5 ปีเฟสแรกดันที่ดิน 200 ไร่สร้างมิกซ์ยูส สกายวอล์กเชื่อมต่อสถานีขนส่งหมอชิตเก่า-ใหม่


 

 

การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) ส่งรายงานเบื้องต้นผลการศึกษามาสเตอร์แพลน (แผนแม่บท) พัฒนาพื้นที่ย่านบางซื่อแบบบูรณาการ จำนวน 2,325 ไร่ให้พิจารณาแล้ว ภายในเดือน ก.พ.นี้จะเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.พิจารณา ก่อนให้กระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ จากนั้นถึงจะเริ่มขั้นตอนเปิดให้เอกชนเข้ามาพัฒนารายโครงการในรูปแบบ PPP ระยะเวลา 30-50 ปี

ปั้นบางซื่อต้นแบบเมืองอัจฉริยะ

“ไจก้านำผลศึกษาเดิมของรถไฟและ ปตท.มาเป็นพื้นฐาน วางคอนเซ็ปต์ให้พัฒนาพื้นที่เป็นภาพใหญ่ และมองการพัฒนายาว 30 ปี นำที่ดินย่านตึกแดงและย่าน กม.11 มารวมด้วย จะใช้เงินลงทุน 5 แสนล้านบาท มีทั้งระบบโครงสร้างพื้นฐาน สมาร์ทซิตี้ และการพัฒนาพื้นที่รอบสถานี”

กำหนดให้บางซื่อเป็นประตูสู่กรุงเทพฯเมืองสวรรค์ เพราะเป็นศูนย์กลางการเดินทาง มีทั้งรถไฟฟ้าในเมือง รถไฟชานเมือง รถไฟความเร็วสูง รถไฟขนส่งสินค้า และเป็นต้น แบบการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนหรือ TOD และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะหรือสมาร์ทซิตี้ของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน

 

15 ปีลงทุน 3.5 แสนล้าน

แผน 15 ปีแรก ปี 2560-2575 ใช้เงินลงทุน 358,700 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 เฟส เฟสละ 5 ปี พัฒนา 9 โซน จากเดิม 4 โซน ระยะสั้นลงทุน 40,100 ล้านบาท ระยะกลาง 167,100 ล้านบาท และระยะยาว 151,500 ล้านบาท แต่ละเฟสมีการลงทุน 5 ส่วน 1.เชิงพาณิชย์ เช่น ออฟฟิศให้เช่า ร้านค้า โรงแรม คอนโดมิเนียม ศูนย์ประชุม 2.สิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ระบบสมาร์ทซิตี้ 3.โครงข่ายคมนาคม เช่น บีอาร์ที 4.โครงข่ายการพัฒนาเพื่อสิ่งแวดล้อม เช่น สวนสาธารณะ ระบบกักเก็บน้ำ และ 5.โครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน ไฟฟ้า ท่อระบายน้ำ

 

ประเดิมที่ดินติดสถานี 200 ไร่

ใน 5 ปีแรก ไจก้าให้เริ่มพัฒนาโซน A 35 ไร่ ติดสถานีกลางบางซื่อ โซน D บางส่วนจะพัฒนาเป็นทางเดินลอยฟ้าเชื่อมระหว่างบางซื่อกับหมอชิตเก่า และโซน D ย่านตึกแดง 119 ไร่ เป็นลำดับแรก พัฒนาเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ มีศูนย์การค้า โรงแรม สำนักงาน รองรับรถไฟฟ้าสายสีแดงตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต จะเปิดบริการในปี 2563 ถัดจากนั้นอีก 5 ปี จะพัฒนาโซน B (จตุจักร) โซน G ย่าน กม.11 และโซน C ตรง บขส. มีที่อยู่อาศัย สำนักงาน ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม ที่เหลือจะพัฒนาช่วง 5 ปีสุดท้าย เช่น โซน D อยู่ติดโรงซ่อม

ด้านการพัฒนาไจก้าเสนอ 2 แนวทาง คือ โดยรายบุคคลแบบเฉพาะเจาะจง และการพัฒนาแบบบูรณาการ ซึ่งไจก้าจะดึงนักลงทุนญี่ปุ่นมาลงทุนให้ แต่ตามนโยบายจะต้องเปิดกว้างให้นักลงทุนทั่วโลกเข้าร่วม ไม่ว่าญี่ปุ่น ฮ่องกง จีน ยุโรป

 

ปตท.ควงยุ่นลงทุนสมาร์ทซิตี้

ล่าสุดทาง บมจ.ปตท.มีความสนใจจะลงทุนสมาร์ซิตี้ย่านบางซื่อ โดยตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาบุกธุรกิจการพัฒนาที่ดินโดยเฉพาะ จะเริ่มลงทุนด้านอินฟราสตรักเจอร์อุปโภคและบริโภคเป็นลำดับแรก เช่น ระบบน้ำร้อน-น้ำเย็น ทดแทนการใช้แอร์ ช่วยประหยัดพลังงาน ระบบไฟฟ้า น้ำประปา อินเทอร์เน็ต และพลังงาน ขายในราคาถูก รองรับคนทำงานและอยู่อาศัยย่านบางซื่อ จะร่วมกับนักลงทุนญี่ปุ่น ส่วนการพัฒนาที่อยู่อาศัยและเชิงพาณิชย์จะเป็นลำดับถัดไป

 

ปตท.โดดร่วมโปรเจ็กต์

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ปตท. เปิดเผยว่า ปตท.ได้ศึกษาโครงการสมาร์ทซิตี้ไว้เมื่อ 2 ปีก่อน ในผลศึกษาต้องการพัฒนาให้พื้นที่รถไฟฟ้าสถานีรถไฟฟ้าบางซื่อเป็นศูนย์กลางของโครงการสมาร์ทซิตี้ เพราะเป็นศูนย์กลางของการเดินทาง จะต้องมีการออกแบบให้ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ รองรับ นอกจากนี้ยังมีอาคารที่พัก มีระบบเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างเทอร์มินอลอีกด้วย ซึ่ง ปตท.มองว่าเป็นโครงการที่น่าสนใจ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้หารือกับ ร.ฟ.ท.อย่างเป็นทางการในแง่ของการลงทุน คาดว่าจะสรุปเร็ว ๆ นี้

 

รอ ครม.อนุมัติ

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม ปตท. กล่าวว่า ตามขั้นตอนแผนพัฒนาพื้นที่บางซื่อให้เป็นสมาร์ทซิตี้นั้น เป็นการศึกษาโดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่ง (สนข.) ซึ่ง ร.ฟ.ท.ได้เห็นชอบในหลักการแล้ว ฉะนั้นขั้นตอนจากนี้คือการนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติ โดยในการหารือคณะทำงานร่วมที่มี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

ขณะนี้แผนพัฒนาโครงการดังกล่าวยังไม่มีการสรุปรูปแบบที่ชัดเจน แต่ไม่ว่าจะใช้รูปแบบใด ปตท.ก็พร้อมที่จะเข้ามาลงทุน เนื่องจากเป็นโครงการใหญ่ ตามแผนดำเนินการเบื้องต้นจะแบ่งการพัฒนารวม 5-7 เฟส ใช้เวลาพัฒนา 15 ปี

ในแต่ละปีจะทยอยลงทุนพัฒนา ตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบน้ำร้อน-น้ำเย็น รวมไปจนถึงศูนย์การค้า เป็นต้น ทั้งนี้หากภาครัฐชัดเจนว่าให้ ปตท.เข้าร่วมพัฒนาพื้นที่ ก็สามารถใช้บริษัทในเครือที่มีอยู่เข้ามาดำเนินการได้ทันที ซึ่งการประชุมคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) ก่อนหน้านี้ได้รายงานเบื้องต้นว่าอาจจะต้องขออนุมัติเพื่อลงทุนโครงการสมาร์ทซิตี้เพิ่มเติม (ไม่รวมอยู่ในแผนการลงทุน 5 ปี 3.4 แสนล้านบาท)

 

 

พหลโยธินเมืองใหม่

เมื่อปี 2559 ทาง ปตท.เสนอผลศึกษาและแผนลงทุนโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ที่สัมพันธ์กับระบบคมนาคมทางราง พลังงานและสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่รอบสถานีรถไฟทางคู่ รถไฟฟ้า และรถไฟความเร็วสูงใน 10 จังหวัด ให้ ร.ฟ.ท.พิจารณาเพื่อขอใช้พื้นที่รถไฟซึ่ง “ย่านพหลโยธิน” เป็น 1 ในนั้นด้วย โดย ปตท.เสนอให้พัฒนาพื้นที่เมืองใหม่รอบสถานีรถไฟ โดยมีการออกแบบอาคารที่ประหยัดพลังงาน เพื่อต่อยอดกับโครงการเอ็นเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ของ ปตท.ในปัจจุบัน อีกทั้งให้มีการพัฒนาพื้นที่ติดสถานีให้เป็นย่านธุรกิจการค้าและบริการ โดยใช้ระบบการขนส่งขนาดรอง เช่น รถบีอาร์ทีที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ศึกษาการลงทุนมารองรับการเดินทางภายในพื้นที่โครงการ ทั้งที่เป็นโครงการเดิมและการพัฒนาพื้นที่ใหม่ มีทั้งพื้นที่เชิงพาณิชย์ สำนักงานและที่อยู่อาศัย เงินลงทุน 52,361 ล้านบาท

 

ที่มา: prachachat

 

ความคิดเห็น