บีทีเอส เผย ความคืบหน้ารถไฟฟ้าขบวนใหม่ เพื่อรองรับผู้โดยสาร คาดแล้วเสร็จปี 61

กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เผย ความคืบหน้ารถไฟฟ้าขบวนใหม่ 46 ขบวน 184 ตู้ มูลค่า 11,000 ล้านบาท จะแล้วเสร็จถึงประเทศไทยต้นปี 2561 นี้ เพื่อรองรับจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นทั้งในเส้นทางปัจจุบัน และในเส้นทางส่วนต่อขยาย

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตามที่บริษัทฯ ได้ลงนามในสัญญาซื้อรถไฟฟ้า 46 ขบวน 184 ตู้ มูลค่ารวมประมาณ 11,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2559 กับบริษัท ซีอาร์อาร์ซี ฉางชุน เรลเวย์ เวฮิเคิล จำกัด 24 ขบวน และ บริษัท ซีเมนส์ จำกัด 22 ขบวน เพื่อรองรับจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นทั้งในเส้นทางปัจจุบันสายสุขุมวิท หมอชิต – แบริ่ง และสายสีลม สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ – บางหว้า ระยะทางรวม 36.25 กิโลเมตร และในเส้นทางส่วนต่อขยายจากสถานีแบริ่งไปสมุทรปราการระยะทาง 13 กิโลเมตร และจากสถานีหมอชิตไปคูคต จ.ปทุมธานี ระยะทาง 19 กิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันมีผู้โดยสารตามปกติสูงสุดถึงเกือบ 900,000 เที่ยวคนต่อวัน บัดนี้การผลิตขบวนรถไฟฟ้าขบวนใหม่ได้มีความก้าวหน้าไปเป็นอย่างมาก 

ทั้งนี้ ขบวนรถไฟฟ้าขบวนแรกที่ผลิตโดยบริษัท ซีเมนส์ จำกัด จะเดินทางถึงประเทศไทยประมาณต้นปี 2561 ซึ่งเมื่อขบวนรถไฟฟ้ามาถึงจะต้องทำการทดสอบระบบต่างๆ ภายใต้สภาพอากาศ สิ่งแวดล้อมจริง และทดลองวิ่งในสภาพพื้นที่จริง ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 3 เดือน สำหรับขบวนแรก และ 1 เดือน สำหรับขบวนถัดไป จากนั้นจึงจะเริ่มนำเข้าสู่ระบบการให้บริการ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ในเดือน กันยายน 2561 สำหรับขบวนรถไฟฟ้าที่ผลิตจากบริษัท ซีอาร์อาร์ซี ฉางชุน เรลเวย์ เวฮิเคิล จำกัด ก็มีความก้าวหน้าไปมากแล้วเช่นกัน โดยขบวนรถจะเริ่มส่งมอบได้ในเดือน มกราคม 2562 และจะเริ่มทดสอบระบบต่างๆ อีกประมาณ 3 – 4 เดือนขบวนรถไฟฟ้าที่ผลิตใหม่นั้น ภายในจะปรับให้มีความสะดวกสบายในการใช้งานยิ่งขึ้น โดยมีการปรับภายในต่างๆ ดังนี้ 

 

1. เปลี่ยนระบบแสดงเส้นทางและบอกสถานี (Dynamic Route Map, DRM) ด้านบนประตูทางเข้าผู้โดยสาร จากแบบเดิม LED เป็นแบบ LCD ซึ่งสามารถให้ข้อมูลสำหรับผู้โดยสารได้มากยิ่งขึ้น
2. เปลี่ยนระบบแสงสว่างจากหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ เป็น LED ตลอดทั้งตู้โดยสาร
3. ปรับและเพิ่มราวจับด้านบนให้เป็นสามแถว เพื่อให้ความสะดวกแก่ผู้โดยสาร
4. เพิ่มพื้นที่โดยสารให้มากขึ้นในแต่ละตู้โดยสาร
5. เพิ่มจำนวนปุ่มติดต่อพนักงาน (Passenger Communication Unit, “PCU”) ทุกประตูโดยสาร
6. ป้ายสัญลักษณ์ที่จอดรถเข็น (wheel chair) ที่พื้นรถไฟฟ้า

 


นอกจาก การนำเข้าขบวนรถไฟฟ้าแล้วบริษัทฯ ได้ลงทุนงบประมาณเพื่อปรับปรุงระบบตั๋วโดยสาร ซึ่งจะเปลี่ยนตู้จำหน่ายตั๋วโดยสารเป็นระบบสัมผัส Touch Screen ทั้งหมด ซึ่งจะช่วยให้ผู้โดยสารสามารถเลือกสถานีที่จะเดินทางได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มสมรรถนะของตู้จำหน่ายตั๋วบัตรโดยสารเพื่อให้รองรับส่วนต่อขยาย และเส้นทางสายอื่นๆ อาทิสายสีชมพู และสายสีเหลืองในอนาคต รวมทั้งการจัดซื้อตู้จำหน่ายตั๋วโดยสารที่สามารถรับธนบัตรด้วยมาเพิ่มในระบบอีก 50 ตู้

ปัจจุบัน ระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส มีตู้จำหน่ายตั๋วโดยสารอัตโนมัติชนิดกดปุ่ม (TIM) 153 ตู้ซึ่งเป็น ตู้จำหน่ายตั๋วโดยสารที่ติดตั้งตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการ และมีตู้จำหน่ายตั๋วแบบรับเหรียญและ ธนบัตร (ITM) 34 ตู้

 

ที่มา : MGRonline

วันที่ 10 ตุลาคม 2560

ความคิดเห็น