“บีทีเอส-อนันดา” ลงนามศึกษาความเป็นไปได้ พัฒนาโครงการสมาร์ทซิตี้ เนื้อที่ 200 ไร่ ติดถนนบางนา-ตราด

 “บีทีเอส-ยูซิตี้-อนันดาฯ” เซ็น MOU ลงนามศึกษาความเป็นไปได้ พัฒนาที่ดิน 200 ไร่ย่านบางนา-ตราด กม.14 ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ เป็นโครงการสมาร์ทซิตี้ มูลค่าการลงทุนกว่าหมื่นล้าน ต่อยอดเมืองใหม่ธนาซิตี้ 1,700 ไร่รับรถไฟฟ้าบางนา-สุวรรณภูมิ 

นายกวิน กาญจนพาสน์ กรรมการบริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTSG) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2562 บมจ.บีทีเอส บมจ.ยู ซิตี้ และ บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ได้เซ็นบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมศึกษาพัฒนาโครงการมิกช์ยูสบนที่ดิน 200 ไร่ ติดถนนบางนา-ตราด หน้าโครงการธนาซิตี้ รองรับรถไฟฟ้าโมโนเรลสายบางนา-สุวรรณภูมิ คาดว่าต้นปี 2563 จะสรุปรูปแบบการพัฒนาและมูลค่าการลงทุน

เปิดโครงการมิกซ์ยูสหมื่นล้าน

เนื่องจากทำเลที่ดินอยู่ใกล้สนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ จึงมีข้อจำกัดเรื่องกฎควบคุมความสูงอาคารสามารถสร้างได้ไม่เกิน 23 เมตร คาดว่ามูลค่าการลงทุนโครงการอยู่ที่ 10,000 ล้านบาทขึ้นไป

“ที่ดินเป็นของบีทีเอส โดยมียู ซิตี้บริษัทอสังหาริมทรัพย์ในเครือบีทีเอส และอนันดาฯ เป็นผู้ร่วมกันพัฒนาโครงการ”

 

ปัดฝุ่นเมืองใหม่รับรถไฟฟ้า

“ที่ดินธนาซิตี้ 1,700 ไร่ติดถนนบางนา-ตราด มีแผนลงทุนพัฒนาเป็นเมืองตั้งแต่ 30 ปีที่แล้ว ช่วงที่ผ่านมามีการนำที่ดินบางส่วนทำที่อยู่อาศัย โรงแรม สนามกอล์ฟ 400 ไร่ ล่าสุดนำที่ดินอีก 168 ไร่ทำโรงเรียนนานาชาติเวอร์โซ มูลค่า 5,000 ล้านบาท ร่วมกับนักลงทุนฮ่องกง 50 : 50 จะเปิดภาคเรียนเดือนสิงหาคม 2563 เหลือทำเลด้านหน้า 200 ไร่ ได้เวลาที่จะนำมาพัฒนาเพื่อทำให้ธนาซิตี้เป็นเมืองที่สมบูรณ์แบบ”

นายคีรีกล่าวอีกว่า นอกจากนี้บีทีเอสยังส่งมอบที่ดิน 15 ไร่ให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) ก่อสร้างเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายบางนา-สุวรรณภูมิ ซึ่งบีทีเอสมีความสนใจลงทุนก่อสร้างโครงการนี้ด้วย ภายในปี 2563 คาดว่าทาง กทม.มีมาตรการผลักดันโครงการออกมาเปิดประมูลหาผู้ร่วมลงทุน โดยแนวเส้นทางเชื่อมกับบีทีเอสบางนา ผ่านหน้าโครงการไปยังสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ

“ทำเลบางนา-ตราดตอนนี้เปลี่ยนไปมาก มีพัฒนาโครงการใหม่ ๆ รองรับเมืองที่มีการขยายตัวมาทางกรุงเทพฯโซนตะวันออกมากขึ้น เช่น คอมมิวนิตี้มอลล์ ที่อยู่อาศัย ศูนย์การค้า รถไฟฟ้า ทำให้การเดินทางจะสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งโครงการมิกซ์ยูสเราจะซัพพอร์ตทั้งคนที่พักอาศัยรอบนอกและภายในโครงการธนาซิตี้ โรงเรียนนานาชาติ”

6 เดือนผลศึกษาเสร็จ

นางสาวปิยพร พรรณเชษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ยู ซิตี้ กล่าวว่า ดีลนี้บีทีเอสนำที่ดินมาเข้าร่วมทุน ส่วนการพัฒนายู ซิตี้จะร่วมกับอนันดาฯ

การศึกษารายละเอียดโครงการกำหนดเสร็จใน 6 เดือน จากนั้นจึงจะบอกได้ว่าโมเดลการพัฒนามีอะไรบ้าง ต้องหาพันธมิตรเพิ่มเติมหรือไม่ เนื่องจากเป็นการพัฒนารูปแบบมิกซ์ยูส มีทั้งที่อยู่อาศัย ศูนย์การค้า คอมมิวนิตี้มอลล์ สำนักงาน คลีนิกหรือโรงพยาบาล เวลเนส เป็นต้น

“เราสนใจเรื่องดิจิทัลเทคโนโลยีในที่อยู่อาศัยหรือสมาร์ทซิตี้เพราะเทรนด์ตลาดมาทางนี้ ซึ่งอนันดาฯสามารถทำได้มากกว่าเรา จึงเป็นความลงตัวเพราะยังมีลูกค้าต้องการความสะดวกสบายและคุณภาพชีวิตที่ดีในการอยู่อาศัยภายในบ้านหรือคอนโดมิเนียม”

กทม.เปิด PPP โมโนเรล 30 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรถไฟฟ้าขนาดเบาหรือไลต์เรล เส้นทางบางนา-สุวรรณภูมิ ระยะทาง 18.3 กิโลเมตร ทาง กทม.ศึกษาตั้งแต่ปี 2556 ปัจจุบันอยู่ระหว่างยื่นขออนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และศึกษาแนวทางให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP net cost 30 ปี วงเงินลงทุน 27,892 ล้านบาท

อนันดาฯสนทำสมาร์ทซิตี้

ผู้สื่อข่าวสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมไปยังผู้บริหารบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ได้รับคำตอบสั้น ๆ ว่ามีการเจรจากับบีทีเอสกรุ๊ปจริง อย่างไรก็ตาม รายละเอียดต่าง ๆ จะมีการประกาศเป็นทางการภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยอนันดาฯมีความสนใจพัฒนาโครงการเมืองอัจฉริยะหรือสมาร์ทซิตี้มานานแล้ว

ดังนั้น ดีลร่วมทุนกับบีทีเอสกรุ๊ปจึงมีความเป็นไปได้ที่จะลงทุนสมาร์ทซิตี้ โดยอนันดาฯมีความเชี่ยวชาญการพัฒนาโครงการภายใต้คอนเซ็ปต์ Urban Living Solution ในขณะที่แลนด์แบงก์ของบีทีเอสกรุ๊ปเป็นแลนด์แบงก์ผืนใหญ่และมีศักยภาพสูง ดีลธุรกิจครั้งนี้จึงถือเป็นวิน-วินเกม

 

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ, มิติหุ้น

วันที่ 11 พฤศจิกายน 2562

ความคิดเห็น