นักลงทุนเพิ่มเม็ดเงินลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ในไทยและเอเชียแปซิฟิกปี 2565

นักลงทุนเพิ่มเม็ดเงินลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ในไทยและเอเชียแปซิฟิกปี 2565

 การลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ทำสถิติสูงสุดในปี 2564 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้ามากกว่าสองเท่าตัว

กรุงเทพฯ – 29 มิถุนายน 256– ซีบีอาร์อี บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำระดับโลก รายงานว่า ธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ในไทยเป็นหนึ่งในตลาดที่น่าจับตามองในปี 2565  เนื่องจากผู้ให้บริการพื้นที่เช่าสำหรับวางเซิร์ฟเวอร์ (Colocation) ระดับภูมิภาคกำลังเริ่มเข้าสู่ตลาดในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงชลบุรี และระยอง  ซึ่งเคยเป็นตลาดของผู้ให้บริการในไทย   นอกจากนี้ รายงานฉบับล่าสุดของแผนกวิจัย ซีบีอาร์อี ยังพบว่า ความต้องการใช้ข้อมูลที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของระบบคลาวด์คอมพิวติ้งและการใช้โซเชียลมีเดียเป็นปัจจัยให้นักลงทุนสนใจตลาดดาต้าเซ็นเตอร์ในเอเชียแปซิฟิกเพิ่มมากขึ้น  โดยการลงทุนในตลาดนี้พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในปี 2564

นายอาดัม เบลล์ หัวหน้าแผนกพื้นที่อุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าวว่า “ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซีบีอาร์อี ประเทศไทย เห็นว่าผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ระดับภูมิภาค เช่น STT และ Supernap ได้เข้ามาสู่ประเทศไทย และมีดาต้าเซ็นเตอร์ที่สามารถรองรับความต้องการระดับไฮเปอร์สเกลที่มากขึ้น  ซึ่งสอดคล้องกับการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในช่วงไม่นานมานี้ในด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล โทรคมนาคม และสายเคเบิลใต้น้ำ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการเติบโตในอุตสาหกรรมนี้”

เมื่อพิจารณาตลาดระดับภูมิภาค การลงทุนโดยตรงในตลาดดาต้าเซ็นเตอร์ในเอเชียแปซิฟิกมีมูลค่ารวม 1.7 แสนล้านบาท (4.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ในปี 2564 ซึ่งเพิ่มขึ้นเกินสองเท่าของระดับการลงทุนสูงสุดก่อนหน้าที่ 7.8 หมื่นล้านบาท (2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ในปี 2563 และยังมากกว่าปริมาณการลงทุนในช่วงสี่ปีที่ผ่านมารวมกัน   ปริมาณธุรกรรมและการระดมทุนคาดว่าจะยังคงคึกคักอย่างต่อเนื่องในปี 2565 โดยดาต้าเซ็นเตอร์ได้รับการจัดอันดับให้เป็นการลงทุนทางเลือกที่ได้รับความนิยมสูงสุดเป็นปีที่สามติดต่อกันจากการสำรวจครั้งล่าสุดของซีบีอาร์อีเรื่องแนวโน้มการลงทุนของนักลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์

ความสนใจในตลาดดาต้าเซ็นเตอร์มาจากความต้องการของผู้ให้บริการคลาวด์ระดับไฮเปอร์สเกลที่ต้องการดาต้าเซ็นเตอร์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและมีหลายทำเลที่ตั้ง   ในเอเชียแปซิฟิกช่วงครึ่งหลังปี 2564 พบว่ามีธุรกรรมการซื้อขายพอร์ตโฟลิโอขนาดใหญ่หลายรายการเกิดขึ้น ซึ่งรวมถึงการที่ Vantage Data Centers ของ DigitalBridge เข้าซื้อพอร์ตดาต้าเซ็นเตอร์ในกรุงกัวลาลัมเปอร์และฮ่องกงของ PCCW และ Digital Edge จับมือกับ Stonepeak Infrastructure เข้าซื้อดาต้าเซ็นเตอร์ 5 แห่งในญี่ปุ่น

“มีเม็ดเงินลงทุนจำนวนมากที่ต้องการเข้าสู่ตลาดดาต้าเซ็นเตอร์ เพราะนักลงทุนมีความเข้าใจในภาคธุรกิจนี้มากขึ้น   ซีบีอาร์อีเห็นถึงการเติบโตที่แข็งแกร่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคดิจิทัลที่มีแรงผลักดันจากโรคระบาดที่กระตุ้นให้เกิดความสนใจในตลาดนี้เป็นอย่างมาก   แม้ว่าโอกาสจะมีจำกัดเมื่อเทียบกับความต้องการที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน แต่ นักลงทุนได้เริ่มพัฒนาแพลตฟอร์มในการบริหารจัดการดาตาเซ็นเตอร์เพื่อเพิ่มรายได้และผลตอบแทนที่สูงขึ้น” นายทอม ฟิลล์มอร์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายตลาดทุนดาต้าเซ็นเตอร์ ซีบีอาร์อี เอเชียแปซิฟิก กล่าว

พื้นที่ว่างในตลาด Tier 1 ของเอเชียแปซิฟิกในมหานครโตเกียว สิงคโปร์ ซิดนีย์ และเขตบริหารพิเศษฮ่องกง มีอัตราคงที่ที่ระดับ 14% แม้จะมีซัพพลายมากเป็นประวัติการณ์ที่ 305 เมกะวัตต์ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564   ซัพพลายเกือบ 2,100 เมกะวัตต์มีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2567 โดยอยู่ในซิดนีย์ถึง 40% ซึ่งจะทำให้ซิดนีย์กลายเป็นตลาดให้เช่าพื้นที่วางเซิร์ฟเวอร์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคภายในปี 2567 เมื่อพิจารณาในแง่ด้านขนาดของดาต้าเซ็นเตอร์

ประเด็นสำคัญจากรายงานวิจัย:

  • เป็นที่คาดการณ์ว่ามหานครโตเกียวจะมีปริมาณความต้องการและซัพพลายในระดับที่สมดุลกัน แม้ว่าจะมีซัพพลายใหม่จำนวน200 เมกกะวัตต์เพิ่มเข้ามาในช่วงครึ่งหลังของปี 2564   ผู้ให้บริการที่ต้องการทำเลที่ตั้งที่หลากหลายนอกเหนือไปจากมหานครโตเกียวเริ่มให้ความสนใจโอซาก้าและเมืองอื่น ๆ ในภูมิภาค จึงส่งผลให้ค่าเช่าทรงตัว
  • เป็นที่คาดว่าค่าเช่าดาต้าเซ็นเตอร์ในสิงคโปร์จะปรับตัวสูงขึ้นแม้จะมีการยกเลิกการพักชำระหนี้สำหรับการก่อสร้างดาต้าเซ็นเตอร์แห่งใหม่ตั้งแต่ไตรมาส2 ปี 2565 ซึ่งจะช่วยให้ในระยะกลางมีพื้นที่พร้อมปล่อยเช่าเพิ่มมากขึ้น   ขีดจำกัดของกำลังการผลิตโดยรวมที่ 60 เมกกะวัตต์ต่อปีสำหรับการใช้งานใหม่นั้นมีนัยยะว่าซัพพลายดาต้าเซ็นเตอร์ใหม่ของสิงคโปร์จะเพิ่มขึ้นช้ากว่าตลาด Tier 1 อื่น ๆ ในเอเชียแปซิฟิก
  • ซิดนีย์มีแผนการพัฒนาพื้นที่ดาต้าเซ็นเตอร์มากที่สุดในกลุ่มตลาดTier 1 ในเอเชียแปซิฟิก ด้วยโครงการขนาดใหญ่ที่เพิ่งมีการประกาศออกมา   ค่าเช่าพื้นที่ดาต้าเซ็นเตอร์ระดับไฮเปอร์สเกลและค่าเช่าพื้นที่แบบขายเหมานั้นคาดว่าจะได้รับแรงกดดันจากซัพพลายใหม่ซึ่งดำเนินการก่อสร้างเป็นเฟส และส่งผลให้มีพื้นที่ว่างเพิ่มขึ้น
  • เป็นที่คาดว่าค่าเช่าและพื้นที่ว่างในฮ่องกงจะยังคงอยู่ในระดับเดิม เนื่องจากผู้ใช้ในองค์กรและผู้ให้บริการคลาวด์ระดับไฮเปอร์สเกลยังคงไม่มีความเคลื่อนไหว ในขณะที่ซัพพลายในระยะสั้นยังมีจำกัด

“ในช่วงอีกไม่กี่ปีข้างหน้า คาดว่าผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ระดับภูมิภาคและระดับโลกจะให้ความสนใจประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง  ดาต้าเซ็นเตอร์คือตลาดที่กำลังเติบโตในประเทศไทย ทั้งผู้เช่าพื้นที่และเจ้าของดาต้าเซ็นเตอร์กำลังปรับความคาดหวังในแง่ของการพัฒนาโครงการดาต้าเซ็นเตอร์ให้เกิดขึ้นจริง   ซีบีอาร์อี ประเทศไทย เห็นถึงความสนใจจำนวนมากในตลาดดาต้าเซ็นเตอร์จากทั้งกองทุนในประเทศและในภูมิภาคในการเข้าซื้อหรือเป็นผู้ลงทุนในดาต้าเซ็นเตอร์ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นของการพัฒนาโครงการ  เรามีทีมงานทั้งในประเทศและระดับภูมิภาคที่รองรับการขยายตัวของตลาดดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทย” นายอาดัมกล่าวเสริม

ความคิดเห็น