คืบหน้า “รถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน” คาดได้ใช้ ปี 66

การรถไฟสรุปเส้นทาง โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ลงทุน 2 แสนล้าน คาดแล้วเสร็จปี 2566

วันที่ 16 ต.ค.60–นายสายันต์ อิ่มสม-สมบูรณ์ ผู้จัดการโครงการ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน กล่าวถึงการประชุมใหญ่การมีส่วนร่วมของประชาชน ครั้งที่ 2 สรุปผลการศึกษาโครงการงานศึกษา ทบทวน และวิเคราะห์ความเหมาะสม โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภาว่า การประชุมในครั้งนี้ได้นำเสนอผลสรุปแนวเส้นทางโครงการ โดยจะใช้แนวเส้นทางระบบขนส่งมวลชนทางรางของโครงการเดิม ได้แก่

1) โครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมืองหรือแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ซึ่งปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว

2) โครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ส่วนต่อขยาย ช่วงพญาไท – ดอนเมือง

และ 3) โครงการรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพ-ระยองซึ่งผ่านพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ระยะทางรวม 260 กิโลเมตร ประกอบด้วย 10 สถานี เป็นสถานียกระดับ 8 สถานี ได้แก่ดอนเมือง สถานีกลางบางซื่อ มักกะสัน ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ศรีราชา พัทยา และระยอง

โครงการรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพ-ระยอง มีไฮไลท์สำคัญ ดังนี้

(ภาพจาก mgronline.com)

• ระยะทางรวม 260 กม. มีการออกแบบเพิ่มเติมบริเวณเชื่อมต่อเข้ากับสนามบินสุวรรณภูมิ(ขาออก) และสนามบินอู่ตะเภา(ขาเข้า-ขาออก)

• วิ่งผ่านพื้นที่ 5 จังหวัด มีทั้งหมด 10 สถานี เป็นสถานียกระดับ 8 สถานี ได้แก่ สถานีดอนเมือง สถานีกลางบางซื่อ สถานีมักกะสัน สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา และสถานีระยอง และเป็นสถานีใต้ดิน 2 สถานี คือ สถานีสุวรรณภูมิ และสถานีอู่ตะเภา

• ใช้เวลาการเดินทางจากดอนเมืองถึงระยอง (หยุดทุกสถานี) ประมาณ 2 ชม. และจาก ดอนเมืองถึงระยอง (ไม่จอดระหว่างทาง) ประมาณ 1 ชม.

• รถไฟวิ่งด้วยความเร็วสูงสุดที่ 250 กม./ชม. ในเขตนอกเมือง และ 160 กม./ชม.เมื่อวิ่งผ่านกรุงเทพฯชั้นใน

• ค่าโดยสาร 500 บาทต่อเที่ยว สำหรับเส้นทางด่วนพิเศษดอนเมือง-อู่ตะเภา และ 300 บาทต่อเที่ยวสำหรับเส้นทางด่วนพิเศษสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา

• โดยใช้งบในการก่อสร้างประมาณ 200,000 ล้านบาท กำหนดแล้วเสร็จในปี 2566

• คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการรถไฟธรรมดา (City Line) ช่วงดอนเมือง-สุวรรณภูมิ 103,920 คน/เที่ยว/วัน และมีผู้ใช้บริการรถไฟความเร็วสูง (HSR) ช่วงสุวรรณภูมิ-ระยอง 65,630 คน/เที่ยว/วัน

ที่มา : springnews

ที่มา : สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.)

วันที่ 16 ต.ค. 2560

ความคิดเห็น