คลังยอมคลายกฎกู้บ้านประชารัฐ หวังดูดคนเข้าโครงการ-เพิ่มยอดสินเชื่อ

คลังยอมผ่อนคลาย “โครงการบ้านประชารัฐ” พร้อมเสนอ ครม.แก้กฎระเบียบ 2 ข้อหลัก 1.ไม่นำราคาที่ดินบวกรวมกับราคาบ้าน และ 2.ยกเลิกบ้านหลังแรกหวังดึงดูดให้ประชาชนเข้าร่วมโครงการฯ เพิ่มขึ้น ยอดปล่อยสินเชื่อโครงการบ้านประชารัฐพุ่ง

 

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)เปิดเผยว่าที่ ประชุมร่วมระหว่างสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ธนาคารออมสิน และ ธอส. มีข้อสรุปร่วมกันที่จะเสนอกระทรวงการคลังแก้ไขกฎระเบียบในการปล่อยสินเชื่อในโครงการบ้านประชารัฐ ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีที่แล้ว จนถึงปัจจุบัน ธอส.ปล่อยกู้ได้เพียง 7,000 ล้านบาท จากวงเงินทั้งหมด 20,000 ล้านบาท โดยแบ่งวงเงินในการปล่อยกู้ปี 2559 จำนวน 10,000 ล้านบาท และปีนี้ อีก 10,000 ล้านบาท คาดว่าหลังมีการแก้ไขกฎระเบียบแล้ววงเงินที่ยังเหลืออยู่อีก 13,000 ล้านบาท จะสามารถปล่อยกู้ได้หมดภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว

 

“ธนาคารได้เริ่มโครงการนี้ ตั้งแต่เดือนมี.ค.2559 โดยมีกำหนดระยะเวลาปล่อยกู้ 2 ปี เพื่อให้โครงการนี้เป็นโครงการต่อเนื่องจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล ในการลดค่าธรรมเนียนการโอนและจดจำนองที่สิ้นสุดในเดือนเม.ย.2559 ที่ผ่านมาแต่โครงการนี้สะดุดเพราะเงื่อนไขที่มติคณะรัฐมนตรีกำหนดว่า 1.ต้องเป็นบ้านหลังแรกเท่านั้น และ 2.วงเงินกู้บ้านไม่ เกิน 1.5 ล้านบาทซึ่ง 2 เงื่อนไขดังกล่าวทำให้โครงการดังกล่าวปล่อยสินเชื่อได้ต่ำกว่าเป้าเนื่องจากปัจจุบันราคาที่ดินแพงขึ้น ทำให้บ้านที่มีราคาต่ำกว่า 1.5 ล้านบาทไม่มีในท้องตลาดโดย เฉพาะในเขตพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลยกเว้นในต่างจังหวัด ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่เป็นเจ้าของที่ดินดั้งเดิมต้องการปลูกบ้านใหม่บนที่ดินของตนเองแต่เมื่อรวมราคาค่าก่อสร้างและราคาที่ดินแล้ว จะสูงเกินกว่า 1.5 ล้านบาท”

 

นายฉัตรชัย กล่าวว่า ที่สำคัญบ้านหลังแรกตามนิยามของกระทรวงการคลังกำหนดว่าประชาชนที่เข้าร่วมโครงการต้องไม่เคยมีบ้านมาก่อน แต่ในความเป็นจริงประชาชนส่วนใหญ่ มีที่ อยู่ อาศัยเป็นของตนเองอยู่แล้ว แต่ลักษณะของที่อยู่อาศัยไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น ตั้งอยู่ในชุมชนแออัด เป็นต้นดังนั้น ในที่ประชุมจึงมีความเห็นที่จะผ่อนปรนหลักเกณฑ์ทั้ง 2 ข้อ แต่ยังกำหนดวงเงินปล่อยกู้บ้านไม่เกินหลังละ 1.5 ล้านบาทเหมือนเดิม โดยจะไม่นำราคาที่ดินบวกรวมกับราคาบ้าน ซึ่งจะทำให้กู้ บ้านในโครงการนี้สามารถกู้ได้เต็มวงเงิน 1.5 ล้านบาท และจะยกเลิกกรณีบ้านหลังแรกซึ่งจะทำให้ ประชาชนจำนวนมากสามารถเข้าร่วมโครงการได้มากขึ้น คาดว่ากระทรวงการคลังจะนำเรื่องดังกล่าวเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ในเร็วๆนี้

 

ทั้งนี้ มติ ครม.เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2559 กำหนดให้ ธอส.และธนาคารออมสิน ปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนวงเงินไม่เกิน 40,000 ล้านบาท ระยะเวลาเงินกู้ไม่เกิน 30 ปี โดยจะไม่มีการจำกัดรายได้ผู้กู้ แต่สัดส่วนภาระผ่อนชำระหนี้ รวมต่อรายได้สุทธิรวม (DTI ) ต้องไม่ เกิน 50% กำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่เป็นขั้นบันไดในช่วง 6 ปี แรกระยะเวลาผ่อนสูงสุด 30 ปี โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยแบ่งเป็น 2 วงเงิน คือ 1.วงเงินกู้ไม่เกิน 700,000 บาท ปีที่ 1 อัตราดอกเบี้ยคงที่ 0% เงินงวดประมาณ 3,000 บาท ปีที่ 2-3 ดอกเบี้ยคงที่ 2% เงินงวด 3,000 บาทปีที่ 4-6 ดอกเบี้ยคงที่ 5% เงินงวด 4,000 บาท ปี ที่ 7 เป็นต้นไป ดอกเบี้ย MRR-1.475% (ปัจจุบัน MRR ของธนาคารออมสิน = 7.475%)เงินงวด 4,500 บาท

 

และ2.วงเงินกู้ 700,001 บาท-1.5ล้านบาท ปีที่ 1-3 ดอกเบี้ยคงที่ 3% เงินงวด 7,200 บาท ปีที่ 4-6 ดอกเบี้ยคงที่ 5% เงินงวด 8,600 บาท ปีที่ 7 เป็นต้นไป อัตราดอกเบี้ย MRR-1.475 ถึง MRR-1.725% เงินงวด 7,900-9,100 บาทนอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังเปิดให้บริษัทอสังหาะริมทรัพย์ภาคเอกชนร่วมโครงการประชารัฐได้ด้วย แต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่สำคัญ 4 ข้อประกอบด้วย 1.ราคาบ้านไม่เกิน 1.5 ล้านบาท 2.ไม่เก็บค่าส่วนกลางเป็นระยะเวลา 1 ปี 3.เอกชนที่เข้าร่วมโครงการจะเป็นผู้ออกค่าโอนและจดจำนองและ 4.เอกชนจะมอบส่วนลดพิเศษให้ แก่ผู้ซื้อ 2% ของราคาบ้าน ซึ่งหากภาคเอกชนสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขทั้ง 4 ข้อก็สามารถนำโครงการไปขอสินเชื่อกับ ธอส.และธนาคารออมสินได้

 

ที่มา หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

วันที่ 7 เมษายน 2560

ความคิดเห็น