กทม. เตรียมรื้อผังเมืองปลดล็อกที่ดินในซอย ให้สามารถสร้างคอนโดสูงเกิน 8 ชั้น

กทม.เตรียมรื้อผังเมือง อนุญาตให้ที่ดินในซอยสร้างคอนโดฯ สูงเกิน 8 ชั้นได้  ในทำเลจุดตัดรถไฟฟ้าสายสำคัญ จากรัศมี 500 เมตร รอบสถานีเป็น 1 กิโลเมตร  ย่าน สุขุมวิท อโศก ศูนย์วัฒนธรรมฯ พหลโยธิน ลาดพร้าว รัชดา 

 

สำนักผังเมือง มีแผนปรับการใช้ประโยชน์ที่ดินเพิ่มเพื่อรองรับการขยายตัวของเมือง โดยเฉพาะรัศมีรอบสถานีรถไฟฟ้าสถานีใหญ่และจุดตัดสำคัญจาก 500 เมตรเป็น 1 กิโลเมตร ส่งผลให้ที่ดินในซอย สามารถพัฒนาอาคารสูง-ใหญ่ได้ หรือสร้างสูงเกิน 8 ชั้นได้โดยไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522

 

เนื่องจากที่ผ่านมามีเอกชนเสนอแนะเข้ามาประกอบกับราคาที่ดินค่อนข้างสูง โดยเฉพาะกรุงเทพชั้นใน แต่จะไม่ปรับใช้ทุกสถานี โดยเฉพาะสถานีที่พัฒนาเฉพาะคอนโดมิเนียม แต่จะปรับเฉพาะบางสถานี ที่เป็นทำเลใหญ่พัฒนาหลากหลายรูปแบบเช่นมิกซ์ยูส ส่วนทำเลที่ พัฒนาเฉพาะคอนโดมิเนียมเพียงอย่างเดียวจะยังคงพัฒนาได้เฉพาะ 500 เมตรอาทิ สถานีอโศก-สุขุมวิท สถานีหมอชิต-จตุจักร สถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ จุดตัดรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน-ส้ม สถานีสยาม สถานี รัชดาฯตัดลาดพร้าว และย่านซีบีดี เป็นต้น

 

ส่วนทำเลที่มีศักยภาพพัฒนาได้เฉพาะคอนโดมิเนียมเพียงอย่างเดียวจะไม่พิจารณาปรับเพิ่ม

 

ส่วนสีผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน การปรับระดับการใช้ประโยชน์ที่ดิน และค่าเอฟเออาร์ หรืออัตราส่วนพื้นที่อาคารต่อพื้นที่ดิน จะยังไม่ปรับเพิ่ม โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ชั้นใน เนื่องจากยังพัฒนาไม่เต็มพื้นที่ที่ให้ไว้

 

ทั้งนี้เกิดจากติดปัญหาที่ดินในซอย เช่นสุขุมวิท ย่านอโศก ในซอยขนาดเขตทางกว้างไม่ถึง 10 เมตร แม้จะกำหนดให้เป็น ย.8 ย.9 พื้นที่สีน้ำตาล ประเภท ที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก สร้างได้ 7-8 เท่าของแปลงที่ดิน แต่ก็สร้างอาคารได้ไม่เกิน 8 ชั้น เป็นต้น ดังนั้นจึงไม่มีประโยชน์ที่จะปรับเพิ่ม เว้นแต่เจ้าของที่ดินจะยอมเสียสละที่ดินเว้นระยะถอยร่นให้ได้ ตามขนาดความกว้างของถนนตามเงื่อนไขผังเมือง ก็สามารถพัฒนา อาคารสูง-ใหญ่ได้ รวมถึงการขยายโครงข่ายรถไฟฟ้า และการขยายถนนในกทม.เพิ่ม ก็สามารถพัฒนาได้

 

ก่อนหน้านี้ นายเลิศมงคล วราเวณุชย์ เลขาธิการสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ได้เสนอ สำนักผังเมืองให้ ทำเลถนนซอย สามารถสร้างคอนโดมิเนียมเกิน 8 ชั้นหรือ 23เมตร ได้เพื่อแก้ปัญหาที่ดินแพง ทำให้ผู้ประกอบการต้องสร้างห้องขายในราคาสูง ทำให้คนชั้นกลางไม่สามารถซื้ออยู่อาศัยในเมืองได้

 

ที่มา  ฐานเศรษฐกิจ

วันที่ 12 พฤษภาคม 2560

ความคิดเห็น