Work Life Integration เมื่อการทำงานในออฟฟิศไม่ตอบโจทย์พนักงานออฟฟิศและชาวมิลเลนเนียลอีกต่อไป

 

เมื่อเทคโนโลยีกำลังจะเปลี่ยนโลก และมนุษย์เองก็ต้องปรับตัว การทำงานในออฟฟิศ นั่งหน้าคอมแค่ในห้องสี่เหลี่ยม อาจจะไม่ตอบโจทย์คนทำงานยุคใหม่อีกต่อไป บางอาชีพไม่จำเป็นต้องนั่งทำงานในออฟฟิศทั้งวัน เช่น บล็อกเกอร์ นักเขียน ฟรีแลนซ์ ช่างภาพ ยูทูปเบอร์ นักข่าว ฯลฯ แต่คงจะเปลี่ยนแปลงได้ยาก หากไม่ได้ความร่วมมือจากองค์กรอย่างที่ควรจะเป็น

 

ยิ่งชีวิตคนเมืองที่ต้องสูญเสียเวลาและค่าใช้จ่ายไปกับการเดินทางมาทำงาน บางคนต้องตื่นแต่เช้าเพื่อมาเข้างานให้ทันตอน 8.30 น. บางคนก็เลิกค่ำมืดกว่าจะฝ่ารถติดถึงบ้านได้ก็แทบไม่มีเวลาทำอย่างอื่นแล้ว ดังนั้นมันจะดีกว่าไหมถ้าเราเอาเวลาที่เสียไปกับการเดินทางมานั่งทำงานอยู่ที่บ้าน คาเฟ่ ร้านกาแฟ หรือ Co-working Space  

 

เดี๋ยวนี้เราติดต่องานกันผ่านทางโทรศัพท์ ส่งไฟล์กันทางอีเมลล์ นัดเจอกันข้างนอก ออฟฟิศแทบจะไม่จำเป็นเลยด้วยซ้ำ สำหรับบริษัทเล็กๆ หรือบริษัทที่มีพนักงานไม่เยอะ ช่วยประหยัดค่าเช่าที่ได้อีก แถมพนักงานก็มีอิสระในการทำงาน สามารถยืดหยุ่นเวลาทำงานเองได้

 

 

บางคนชอบคิดงานตอนกลางคืน ตอนเช้าอาจจะไปหาอะไรใหม่ๆ จากข้างนอกมาเขียน ตกกลางคืนมาเขียนงานต่อ ให้ทำงานทั้งวันเราก็ทำได้ แต่ต้องไม่มีการบังคับให้อยู่ในกฎเกณฑ์จนเกินไป ปัจจุบันการประชุม ไม่ต้องอยู่ในออฟฟิศก็ประชุมได้ ออกมาเจอกันร้านกาแฟสักร้าน หามุมเงียบๆ สั่งเครื่องดื่มไปประชุมไป ก็ผ่อนคลายไปอีกแบบ

 

อาชีพทุกอาชีพ แค่เก่งอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีความอดทน มีความพยายาม และมีความรับผิดชอบด้วย ซึ่งการที่ไม่ตีกรอบทางความคิดและพฤติกรรมของเหล่าพนักงานจนเกินไป จะทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ที่เปิดกว้าง ได้ไอเดียใหม่ๆ สิ่งแปลกใหม่ ที่หาไม่ได้จากการทำงานในออฟฟิศ เกริ่นมาตั้งนาน เรามารู้จักกันก่อนว่า “Work Life Integration” คืออะไร แล้วเราจะเข้าใจการทำงานแบบ Work Life Integration มากขึ้น

 

“Work Life Integration” เป็นแนวคิดที่หลอมรวมการทำงานกับชีวิตส่วนตัวเข้าด้วยกัน ไม่ได้แบ่งแยกชัดเจนแบบ Work-Life Balance โดย 4 เทคนิคที่จะทำให้คุณใช้ชีวิตได้แบบ Work Life Integration คือ

 

 

1. เวลาทำงานที่ยืดหยุ่น (Flexible Hours)

มีการจัดสรรเวลาทำงานเอง เน้นประสิทธิภาพการทำงาน มากกว่าเวลาเข้า-ออกงาน พนักงานสามารถแบ่งเวลาเองได้ว่าอยากทำงานกี่โมงถึงกี่โมงในแต่ละวัน เพื่อวางแผนว่า วันนี้เราจะไปทำกิจกรรมอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการทำงานได้ ซึ่งข้อตกลงแบบนี้จะให้พนักงานได้มีอิสระมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ต้องรับผิดชอบงานของตัวเองเช่นกัน

 

2. ทำงานจากที่ไหนก็ได้ (Remote Working)

อย่างที่บอกไปว่ายุคนี้สมัยนี้ นั่งทำงานตรงไหนก็ได้ จะบ้าน คาเฟ่ ร้านกาแฟ ร้านอาหาร Co-working Space ต่างๆ รับงานทางอีเมลล์ ส่งงานทางอีเมลล์ ง่าย สะดวก รวดเร็ว ไม่อุดอู้หรือปิดกั้นในห้องสี่เหลี่ยมที่ออฟฟิศ ไอเดียมา ความสร้างสรรค์ก็มี แถมประหยัดเวลา ไม่ต้องออกไปออฟฟิศตั้งแต่ไก่โห่อีก

 

 

3. สวัสดิการและสิทธิพิเศษที่เลือกได้ (Customizable Perks)

เนื่องจากพนักงานแต่ละคนมีความสนใจที่แตกต่างกัน ดังนั้นสิทธิพิเศษต่างๆ ที่ให้กับพนักงานย่อมไม่เหมือนกัน เป็นการใส่ใจในรายละเอียดและให้ความสำคัญกับไลฟ์สไตล์ของแต่ละบุคคล ซึ่งวิธีการนี้จะซื้อใจพนักงานได้มากกว่าการให้เงินเปล่าๆ เสียอีก

 

4. สร้างโอกาสทางการเรียนรู้ (Invest in Training)

การเปิดคอร์สอบรม การไปศึกษาดูงานยังที่ต่างๆ นอกจากจะเป็นการเปิดโลกแล้ว พนักงานยังได้ไปเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ กรรมวิธีใหม่ๆ แนวคิดใหม่ๆ วัฒนธรรมใหม่ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันต่อยอดให้เราได้มีไอเดียและความคิดใหม่ๆ ได้ แต่ก็อยู่ที่องค์กรด้วยว่าจะมีการสนับสนุนไปในทิศทางไหน และมากน้อยเพียงใด

 

การทำงานกับกลุ่มคนรุ่นใหม่อย่างมิลเลนเนียล บอกเลยว่าไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยาก อย่าสร้างกฎเกณฑ์มาบังคับมากเกินไป แต่ก็ไม่ได้ให้อิสระจนเกินความจำเป็น ควรมีข้อตกลงที่พอดีทั้งต่อตัวองค์กรและพนักงาน องค์กรเองต้องเข้าใจไลฟ์สไตล์ของชาวมิลเลนเนียลด้วยเช่นกัน ถ้ายังเห็นว่าการทำงานที่บ้านมันไร้สาระและไม่มีประสิทธิภาพ มาดูงานวิจัยจากที่ต่างๆ กัน ที่บ่งบอกว่าการทำงานที่บ้าน ส่งผลให้พนักงานทำงานได้ดีขึ้นและมีความสุขมากขึ้น และบริษัทสามารถลดต้นทุนในการบริหารจัดการได้ด้วย มาดู 5 ข้อดีที่ทำให้การทำงานที่บ้านดีกว่าที่ออฟฟิศกัน

 

 

1. ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

จากงานศึกษาของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดที่ตีพิมพ์ใน Harvard Business Review พบว่าพนักงานที่ทำงานจากที่บ้านทำงานได้สำเร็จมากกว่ากลุ่มที่ถูกบังคับใช้เข้าออฟฟิศ งานศึกษาชิ้นนี้สำรวจประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน Call Center ในบริษัท Ctrip เว็บไซต์สายท่องเที่ยวของจีน โดยได้แยกพนักงานออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ทำงานจากที่บ้าน และกลุ่มที่ทำงานในออฟฟิศ พบว่าพนักงานที่ทำงานจากที่บ้านทำงานได้สำเร็จมากกว่าอีกกลุ่มถึง 13.5%

 

นอกจากนี้งานศึกษาชิ้นอื่นๆ เช่นงานของ Gallup ก็พบเช่นกันว่าพนักงานที่ทำงานจากที่บ้าน 3-4 วันต่อสัปดาห์ รู้สึกมีส่วนร่วมกับงานที่ทำถึง 33% สูงกว่าพนักงานแบบเข้าออฟฟิศที่รู้สึกมีส่วนร่วมกับงานเพียง 15% เท่านั้น

 

2. ลดอัตรการลาออกของพนักงาน

จากการศึกษาบริษัท Ctrip ยังพบว่าการทำงานจากที่บ้านทำให้พนักงานมีความพึงพอใจในงานที่สูงมาก (much higher job satisfaction) มากกว่านั้นทำให้อัตราการลาออกจากที่ทำงานลดต่ำลงถึงครึ่งหนึ่ง นอกจากจะลดอัตราการลาออกของพนักงานแล้ว บริษัทต่างๆ ที่เสนอให้พนักงานทำงานจากที่บ้านยังมีโอกาสสูงที่จะได้พนักงานคนรุ่นใหม่มาร่วมงานด้วย เพราะมีงานศึกษาที่พบว่า 40% ของพนักงานรุ่นใหม่ในสหรัฐอเมริกาชอบการสื่อสารผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากกว่าเจอตัวเป็นๆ หรือคุยผ่านทางโทรศัพท์

 

3. ช่วยลดต้นทุนบริษัทได้ แถมความสุขของพนักงานก็เพิ่มขึ้น

งานศึกษาจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ พบว่าการทำงานจากที่บ้านทำให้พนักงานมีความสุขมากขึ้น และมีประสิทธิภาพสูงขึ้น งานวิจัยยังพบว่าการทำงานจากที่บ้านทำให้พนักงานมีสมาธิ ไม่มีสิ่งอื่นมารบกวนมากเท่ากับการเข้าออฟฟิศ ส่วนบริษัทก็ได้ลดต้นทุนในส่วนนี้ เพราะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายกับการมีออฟฟิศที่หรูหราหรือเฟอร์นิเจอร์ที่อลังการ เพราะถ้าพนักงานทำงานที่บ้าน พวกเขาก็จะซื้อของเหล่านั้นด้วยเงินของเขาเอง ทำให้ต้นทุนของบริษัทลดต่ำลงไปอีก

 

 

4. พนักงานจะลาป่วยน้อยลง

หากพนักงานทำงานจากที่บ้านได้ จะลดความเครียดไปได้สูงมาก โดยเฉพาะความเครียดจากการเดินทาง หรือหากพนักงานเกิดป่วยขึ้นมาจริงๆ ก็สามารถทำงานจากที่บ้านได้ ไม่ต้องไปออฟฟิศเพื่อเพิ่มความเสี่ยงในการกระจายเชื้อโรคให้กับเพื่อนร่วมงานในบริษัท เพราะฉะนั้นลืมเรื่องวันลาป่วยของพนักงานไปได้เลย เนื่องจากพวกเขาจัดการชีวิตตัวเองได้

 

ผลวิจัยจากสำนักวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ระบุว่าการทำงานจากที่บ้านช่วยเพิ่มประสิทธิภาพได้จริง เพราะระดับมลพิษที่พนักงานได้รับ (หากเดินทางไปที่ทำงานทุกวัน) ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานโดยตรง พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าทำงานจากที่บ้าน พนักงานไม่ได้รับมลพิษจากทางอากาศ ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานนั่นเอง

 

5. ลดรายจ่าย (เงินเดือน) ให้กับบริษัท

จากการศึกษาของ American Economic Review พบว่าบริษัทในสหรัฐอเมริกาที่อนุญาตให้พนักงาน Work From Home จะหักรายได้จากพนักงานประมาณ 8% จากเงินเดือน นั่นหมายความว่า จะทำให้บริษัทมีกำไรเพิ่มมากขึ้นโดยที่ไม่ต้องเพิ่มผลิตผลของงานใดๆ เลย ยกตัวอย่างเช่น บริษัทต้องแบกต้นทุนรายจ่ายเงินเดือนของพนักงานที่ 30% ส่วนกำไรสุทธิของบริษัทอยู่ที่ 3% แต่หากอนุญาตให้มีการทำงานจากที่บ้าน ทำให้ลดรายจ่ายเงินเดือนพนักงานลงได้อีก 8% สุดท้ายบริษัทจะมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 3% โดยที่ไม่ต้องทำอะไรเพิ่ม เพียงแค่อนุญาตให้พนักงาน Work From Home เท่านั้น

 

 

นอกจากงานวิจัยต่างๆ เหล่านี้จะช่วยพิสูจน์ได้แล้ว ว่าการทำงานที่บ้านนั้น ทำให้พนักงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นแค่ไหน แถมยังมีความสุขกับการทำงานมากขึ้นอีก ทั้งหมดล้วนส่งผลให้คุณภาพงานออกมาดีทั้งสิ้น สุดท้ายแล้วก็ได้ผลประโยชน์ทั้งองค์กรและพนักงาน ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งเลย ที่จะทำให้องค์กรเจริญเติบโตได้อย่างยั่งยืน

 

ซึ่งข้อดีเหล่านี้เองที่จะทำให้เกิดกระบวนการ Work Life Integration คือการทำงานที่หลอมรวมเข้ากับชีวิตส่วนตัว เราเป็นคนกำหนดตารางชีวิตเอง หากมีตารางชีวิตที่เราพอใจ จะส่งผลให้การทำงานดีตามไปด้วย แฮปปี้ทั้งสองฝ่าย ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับองค์กรด้วยว่าจะคิดก้าวทันเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลง หรือจะย่ำเท้าตามหลังมาแบบช้าๆ เราไม่จำเป็นต้องเอาบริษัทใหญ่ๆ ที่มีชื่อเสียงมากๆ มาเป็นตัวอย่างในการทำงานขององค์กร แต่เราควรเลือกสิ่งที่ดีที่สุด มาปรับใช้กับองค์กรให้เกิดประโยชน์สูงสุด น่าจะมีความเป็นไปได้ในการปรับเปลี่ยน ให้องค์กรและพนักงานเกิดความสมดุลซึ่งกันและกันมากที่สุด

 

 

 

อ้างอิง : www.brandinside.asia/workfromhome , www.dailynews.co.th , blog.ourgreenfish.com , www.brandinside.asia/work

เครดิตรูป : www.freepik.com

 

 

ความคิดเห็น