MQDC ร่วมกับ CDAST ชวนนักออกแบบร่วมส่งแบบประกวดพื้นที่จัดงาน หวังยกระดับการจัดงานสู่มาตรฐานสากล “MQDC Design Competition 2023 – RE-imagining Thai Social Space: City Festival as Design Intervention” ปิดรับผลงานสิ้นเดือนมีนาคมนี้

11 มีนาคม 2566 กรุงเทพฯบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่่น จำกัด (MQDC) ร่วมกับ สภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (CDAST) จัดโครงการประกวด “MQDC Design Competition 2023 – RE-imagining Thai Social Space: City Festival as Design Intervention” ชิงเงินรางวัลรวมทุกรางวัลมูลค่ารวมกว่า 2,000,000 บาท พร้อมใบประกาศเกียรติคุณ และรางวัลเดินทางศึกษาดูงานต่างประเทศสำหรับผู้ชนะเลิศระดับ Gold ส่งเสริมคนรุ่นใหม่ให้มีส่วนร่วมออกแบบพื้นที่สาธารณะและพื้นที่กึ่งสาธารณะของเมืองให้เป็นพื้นที่ที่รองรับงานเทศกาลที่กระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางสังคมที่ตอบโจทย์ต่อการใช้พื้นที่เมืองในอนาคต เน้นการนำไปใช้ในพื้นที่จริงในอนาคต หวังยกระดับพื้นที่จัดงานสู่มาตรฐานสากล

 

นายวิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่่น จำกัด (MQDC) เปิดเผยว่า “ในนามตัวแทนผู้บริหารและสมาชิกองค์กรบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC)  มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสร่วมมือกับสภาคณบดีคณะสถาปัตย์แห่งประเทศไทย (CDAST) จัดโครงการประกวดการออกแบบ ภายใต้ธีม   “RE-imagining Thai Social Space: City Festival as Design Intervention” เพื่อช่วยยกระดับพื้นที่ส่วนกลางทั้งพื้นที่สาธารณะและกึ่งสาธารณะของเมือง สำหรับการจัดงานเทศกาลที่กระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางสังคมและตอบโจทย์การใช้พื้นที่เมืองในอนาคต ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทย ให้มีความพร้อมก้าวสู่มาตรฐานสากล โดยออกแบบพื้นที่สาธารณะและกึ่งสาธารณะ ซึ่งสะท้อนถึงอัตลักษณ์และการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ นำไปสู่การการสร้างกิจกรรมเมืองรูปแบบใหม่ที่ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ กระตุ้นการท่องเที่ยว เสริมสร้างภาพลักษณ์ของเมืองและเกิดการพัฒนาย่านด้วยสถาปัตยกรรมและกิจกรรมชั่วคราวหรือการสร้างเทศกาล เพื่อสนับสนุนนักออกแบบรุ่นใหม่ของประเทศไทยให้มีส่วนร่วมในการสร้างนวัตกรรมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์หลักของ MQDC ภายใต้แนวคิด ‘For All Well-Being’ ที่มีความตั้งใจในการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนต่อทุกชีวิตบนโลกใบนี้”

 

“ผมขอเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมประกวดการออกแบบพื้นที่สาธารณะและกึ่งสาธารณะสำหรับจัดกิจกรรมตามเทศกาลต่างๆ เพื่อช่วยกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางสังคมที่ตอบโจทย์ต่อการใช้พื้นที่เมืองในอนาคต ในประเทศไทยให้มีความยั่งยืน  เราให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของคนทุกกลุ่มทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการประกวดนี้จะเป็นเวทีสำคัญให้กลุ่มนักออกแบบรุ่นใหม่ที่จะกลายเป็นผู้มีบทบาทด้านการออกแบบ ได้นำเสนอไอเดียความคิดสร้างสรรค์ให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนและได้แลกเปลี่ยนแนวคิดเพิ่มพูนประสบการณ์ต่างๆ ในการทำงานด้านการออกแบบและยึดเป็นอาชีพในอนาคต ทั้งนี้ MQDC ได้ให้การสนับสนุนในด้านงบประมาณการจัดกิจกรรม และ สนับสนุนเงินรางวัลรวมทุกรางวัลทั้งหมด  2,000,000 บาทแก่ผู้ชนะการประกวดในลำดับต่างๆ ” นายวิสิษฐ์ กล่าว

 

ศ.ดร.ระวิวรรณ​ โอฬารรัตน์มณี ประธานสภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (CDAST) กล่าวเสริมว่า “CDAST มีความยินดีที่ได้เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “MQDC Design Competition 2023 – RE-imagining Thai Social Space: City Festival as Design Intervention” ปัจจุบันเทรนด์ของการออกแบบเมืองทั่วโลกมุ่งให้ความสำคัญกับ Inclusive Place for City Festival หรือพื้นที่สาธารณะและพื้นที่กึ่งสาธารณะ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนในเมืองที่ทุกคน ทุกเพศทุกวัยสามารถเข้าถึงสถานที่จัดงานกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างเท่าเทียม ดังนั้นโจทย์สำคัญที่สุดของการออกแบบพื้นที่สาธารณะและกึ่งสาธารณะ สำหรับทุกเทศกาล เพื่อพัฒนาให้เป็นพื้นที่ของทุกคนอย่างแท้จริง คือการเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการนำเสนอไอเดีย ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์และมุมมอง ให้การออกแบบพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมตามเทศกาลประจำในพื้นที่ต่างๆ ในระดับจังหวัด และระดับประเทศ สามารถตอบโจทย์การเข้ามาใช้งานของผู้คนทุกกลุ่มทุกวัยที่จะเข้ามาใช้พื้นที่ตรงนี้ ด้วยโจทย์ความท้าทายให้นักออกแบบได้ประชันไอเดียภายใต้แนวคิด “RE-imagining Thai Social Space: City Festival as Design Intervention ” การออกแบบสถาปัตยกรรม หรือ การออกแบบองค์ประกอบใหม่ของพื้นที่ ให้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมและพฤติกรรมของชุมชน (Design Intervention) การออกแบบกิจกรรม/งานเทศกาลชั่วคราวตามบริบทของพื้นที่ การออกแบบที่สะท้อนเอกลักษณ์และความร่วมมือของพื้นที่ การออกแบบที่สร้างบรรยากาศที่สร้างแรงบันดาลใจ สร้างความมีชีวิตชีวา และสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับเมืองสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดเป็นการออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อสังคมที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คนได้อย่างเป็นรูปธรรม”

 

นายไชยยง รัตนอังกูร   หัวหน้าคณะที่ปรึกษา Creative Lab by MQDC ในฐานะผู้จัดทำการประกวดแบบ  กล่าวว่า การประกวดแบบครั้งนี้ มีจุดเด่นในด้านการหวังผลให้นำแบบมาใช้ได้ในพื้นที่จริงซึ่งมีทั้งพื้นที่สาธารณะและพื้นที่กึ่งสาธารณะ  โจทย์ในการออกแบบจึงมีสเกลจากพื้นที่ต้นแบบจริงซึ่งมีให้เลือก 2  กลุ่มคือ ผู้เข้าประกวดที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล ใช้พื้นที่ในย่านสุขุมวิทตอนใต้ (South Sukhumvit) และ  ผู้เข้าประกวดที่อยู่นอกเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล ให้ใช้พื้นที่สาธารณะของเมือง (Urban Public Space)

หลักเกณฑ์ในการพิจารณาแบบจะพิจารณาตั้งแต่ที่มาของการออกแบบ ให้มีการวิเคราะห์พื้นที่และบริบทของพื้นที่ ประเด็นของเมือง สังคม วัฒนธรรม ชุมชน (Urban, Social, Culture, Community Issues, etc.) ที่สัมพันธ์กับกิจกรรมหรือการใช้งานพื้นที่ที่จะเกิดขึ้น กําหนดชื่องานและชื่อกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นบนพื้นที่ รายละเอียดกิจกรรม ช่วงเวลาในการจัดงาน (กลางวัน-กลางคืน ช่วงเดือน ระยะเวลาในการจัดงาน ฯลฯ) กลุ่มเป้าหมาย เจ้าภาพและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดงาน (Stakeholders) การเดินทาง และการเชื่อมโยงกับบริบทของพื้นที่อย่างเหมาะสม

โดยทั้งหมดจะต้องมีการศึกษาข้อมูลและนำเสนอตามหลักการออกแบบ ความเข้าใจในกิจกรรมต่างๆ ทั้งในแนวกว้างและแนวลึก มองเห็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นและใช้การออกแบบในการป้องกันปัญหา หรือแก้ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในระหว่างการจัดกิจกรรม ซึ่งทางคณะกรรมการจัดงานประกวดเห็นพ้องกันว่า คนรุ่นใหม่ในวงการออกแบบจะมีส่วนช่วยออกแบบให้สังคมได้ตระหนักถึงการใช้พื้นที่สาธารณะและกึ่งสาธารณะอย่างมีคุณค่า

“เราเห็นความสำคัญเรื่องการนำพื้นที่สาธารณะมาใช้เป็นพื้นที่จัดงานเทศกาล เนื่องจากเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน จากงานเฉลิมฉลองทางศาสนาและโอกาสสำคัญของเมือง ขยายไปสู่งานเทศกาลทางวัฒนธรรม การแข่งขันกีฬา เทศกาลศิลปะ และเทศกาลภาพยนตร์ ที่ส่งผลให้ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมกับงานที่จัดขึ้นในพื้นที่สาธารณะได้หลากหลายมากขึ้น และเป็นเรื่องที่ซับซ้อนที่ต้องมีการวางแผนบริหารจัดการจากทั้งนักออกแบบ ภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนในพื้นที่ จึงนำมาเป็นโจทย์ว่า ในฐานะนักออกแบบคิดว่า งานเทศกาลจะสร้างการเปลี่ยนแปลงกับเมืองและประเทศของเราอย่างไร และการออกแบบจะมีส่วนช่วยป้องกันปัญหาในทุกมิติ รวมทั้งเป็นการออกแบบที่สร้างความมีส่วนร่วม ผ่านมุมมองการเข้าใช้พื้นที่ทั้งในฐานะ ผู้จัดงาน และผู้เข้าชมงานไปพร้อมๆ กัน ซึ่งจะช่วยให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการออกแบบพัฒนาพื้นที่ระดับเมือง และได้รับประโยชน์ในการจัดกิจกรรมเหล่านี้ด้วย”

นายองศา จรรยาประเสริฐ ผู้อำนวยการอาวุโส โครงการ Cloud 11 บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด  ในฐานะผู้พัฒนาโครงการมิกซ์ยูสที่ให้ความสำคัญกับการสร้างพื้นที่สาธารณะในย่านสุขุมวิทตอนใต้  กล่าวว่า Cloud 11 จะเป็นฮับของเหล่า Content Creator เป็นส่วนหนึ่งของย่าน South Sukhumvit มีพื้นที่กึ่งสาธารณะที่รองรับการจัดกิจกรรม แสดงผลงานของเหล่าครีเอเตอร์ รองรับเฟสติวัลเชิงศิลปวัฒนธรรมและนวัตกรรม เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสสนับสนุนการประกวดแบบ และมีความตั้งใจที่จะผลักดันแบบที่ชนะเลิศจากการประกวดให้สามารถจัดงานเทศกาลได้จริง คาดว่าจะได้รับผลงานที่เต็มไปด้วยความสร้างสรรค์ ช่วยเพิ่มชีวิตชีวาให้กับพื้นที่อีเวนต์ ดึงดูดผู้คนในย่านสุขุมวิทและพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งจะเป็นพื้นที่กึ่งสาธารณะยอดนิยมสำหรับเหล่าครีเอเตอร์ ที่สะท้อนภาพลักษณ์และอัตลักษณ์ที่โดดเด่นในอนาคต ”

 

รางวัลการประกวดแบ่งเป็น รางวัลชนะเลิศ ประเภทนิสิต/นักศึกษาและประเภทบุคคลทั่วไป

ประเภทละ 3 รางวัล รางวัลชมเชยประเภทละ 3 รางวัล ได้รับเกียรติบัตร และเงินรางวัล และผู้ชนะเลิศระดับ Gold จะได้รางวัลเดินทางดูงานต่างประเทศ ประกาศผลในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2566  และรางวัล Popular Votes 1 รางวัล จะได้รับเกียรติบัตร และเงินรางวัลเช่นเดียวกัน  ประกาศผลในวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2566 หรือวันจัดพิธีมอบรางวัลและ จัดแสดงนิทรรศการผลงาน (Award Ceremony & Exhibition)

 

ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดข้อมูลได้ที่ Facebook Page: MQDC Design Competition 2023

และส่งคําถามมาที่อีเมล [email protected] โดยวันที่ 31 มี.ค. 66 จะเป็นวันสุดท้ายของการรับผลงาน (Submission Deadline)

 

ความคิดเห็น