10 Trick ปรับบ้านเตรียมพร้อมรับมือกับผู้ป่วยอัลไซเมอร์

อย่างที่รู้ๆกันอยู่ว่า ทุกวันนี้จำนวนประชากรผู้สูงอายุมีเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ซึ่งโดยส่วนใหญ่ในกลุ่มผู้สูงอายุทั่วไปจะพบว่าเป็นผู้ป่วยอัลไซเมอร์จำนวนมาก เฉลี่ยอายุ 65 ปี มีสัดส่วนร้อยละ 5 กลุ่มอายุ 75 ปีเฉลี่ยร้อยละ 15 และกลุ่มอายุ 85 ปีประมาณร้อยละ 30- 40 จะเห็นได้ว่าเมื่อคนเรามีอายุสูงขึ้นย่อมมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งรวมไปถึงตัวเราและคนครอบครัวด้วย และดูเหมือนว่าประเทศไทยจะมีอัตราผู้ป่วยอัลไซเมอร์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

 

ดังนั้นการเติบโตของจำนวนประชากรสูงวัยของประเทศไทยจึงกลายเป็นกลุ่มเป้าหมายทางอ้อมที่สำคัญอีกกลุ่มเป้าหมายหนึ่ง ในแง่ของกำลังการซื้อที่อยู่อาศัย ของตกแต่งบ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอื่นๆ เพราะการเตรียมพร้อมรับมือกับผู้ป่วยอัลไซเมอร์เป็นสิ่งสำคัญ หลายคนจะมีการเตรียมการไว้ตั้งแต่การเลือกซื้อที่อยู่ศัย หรือเตรียมการปรับปรุงบ้านไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งคบคิดเองก็จะมาแนะนำแนวทางการปรับที่อยู่อาศัยให้ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมภายในอนาคต เผื่อมีคนในครอบครัวจะต้องเผชิญกับโรคนี้โดยเฉพาะผู้สูงอายุทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย หรือแม้กระทั่งตัวเราเอง

 

เข้าใจอาการของโรคอัลไซเมอร์

อันดับแรกเราจะต้องมาทำความเข้าใจกับอาการของอัลไซเมอร์ ว่าโรคนี้ไม่ใช่แค่ลืมแต่เราจะพบอาการแปลกของผู้ป่วยด้วย ไม่ว่าจะเป็นอาการหลง มองเห็นภาพหลอน บางทีก็ไม่สามารถควบคุมหรือรู้ทันความคิดที่ออกมาจากสมอง ดังนั้นสิ่งที่ต้องระมัดระวังคือการจัดสถานที่ เพื่อให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัยในการใช้ชีวิตมากยิ่งขึ้น

 

เพิ่มพื้นที่กิจกรรม

สังเกตพฤติกรรมหรือกิจกรรมที่ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ชื่นชอบเป็นพิเศษ เพราะสำหรับผู้ป่วยแล้วจะสามารถเพลิดเพลินและอยู่กับสิ่งนั้นได้ตลอดทั้งวัน ไม่มีเบื่อ หรือสังเกตว่าผู้ป่วยมีความสนใจสิ่งใด ทำแล้วมีความสุข จากนั้นจึงค่อยๆปรับหรือเพิ่มพื้นที่บริเวณที่อยู่อาศัยให้ตรงตามความชอบและความสนใจของผู้ป่วย โดยวิธีนี้นอกจากจะช่วยทำให้ผู้ป่วยมีความสุข และอารมณ์ดีแล้ว ยังช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ดูแล เมื่อผู้ป่วยมีกิจกรรมแล้ว ผู้ดูแลสามารถทำงานอื่น ๆ ได้ตามปกติ เพียงแค่ออกไปดูเป็นครั้งคราวเท่านั้น

 

ติดกล้องวงจรปิด

การติดกล้องวงจรปิดภายในบ้านเป็นการติดกล้องเพื่อเฝ้ามองติดตามอาการของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ซึ่งจะช่วยรักษาและช่วยให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งเราขอแนะนำให้ติดกล้องวงจรปิดที่สามารถดูออนไลน์ได้ 24 ชั่วโมง เพื่อเฝ้าสังเกตอาการ ติดบริเวณโซนกิจกรรม หน้าบ้าน และห้องนอนของผู้ป่วย เพราะบางอาการเราไม่อาจทราบได้เลยหากไม่เฝ้าดูในช่วงเวลาส่วนตัว

 

ทำห้องนอนโล่งๆ

ผู้ป่วยอัลไซเมอร์มักมองเห็นภาพหลอนบ่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืน อาจจะตื่นขึ้นมาพร้อมกับเรื่องราวใด ๆ ที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ การที่ห้องนอนมีของเยอะเกินไปไม่ว่าจะเป็น ตู้เสื้อผ้า ตะกร้าผ้า หรือของตกแต่ง อาจทำให้ผู้ป่วยมองเห็นภาพหลอนเป็นคนได้ จนเกิดอาการตื่นกลัวและวิตกกังวล และเกิดอาละวาดเอาได้ ดังนั้นการที่จัดการห้องนอนให้โล่งโปร่ง มีของน้อยๆ เอาสิ่งของที่ไม่จำเป็นออก จะช่วยให้ผู้ป่วยมองเห็นภาพหลอนได้น้อยลง และผู้ดูแลก็จะได้ไม่ต้องเหนื่อยกับการจัดเก็บข้าวของใหม่

 

ปรับแสงห้องนอนให้น่านอน

การพักผ่อนเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับผู้ป่วยอัลไซเมอร์ การปรับแสงสว่างภายในห้องนอนให้เหมาะสม จึงเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยกระตุ้นให้นอนหลับง่ายยิ่งขึ้น โดยหลอดไฟที่เหมาะสำหรับห้องนอนคือแสงไฟสีวอร์ม ซึ่งเป็นโทนแสงที่ใกล้เคียงกับแสงพระอาทิตย์ตกดิน ในทางกลับกันหากเป็นหลอด Day Light แสงสว่างจ้าย่อมทำให้ผู้นอนรู้สึกตื่นตัว นอนหลับยากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ไม่ควรหรี่ไฟให้มืดจนเกินไป เพราะหากผู้ป่วยสะดุ้งตื่นขึ้นมากลางดึก จะยิ่งทำให้ผู้ป่วยตกใจมากยิ่งขึ้น เว้นแต่ผู้ป่วยเรียกร้องให้ปิดไฟ

 

ห้องน้ำกว้าง สว่างทั้งคืน

แม้ผู้ป่วยจะเข้าไปห้องน้ำเป็นเวลานาน แม้จะมีเสียงน้ำก็อย่าเพิ่งเชื่อว่าผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะทำกิจกรรมส่วนตัวได้อย่างถูกต้อง ก ๆ ครั้งที่ผู้ป่วยเข้าห้องน้ำ ให้ตามตรวจเช็กความเรียบร้อยเสมอ และเมื่ออาการหลง ๆ ลืม ๆ เริ่มมากขึ้น การทำกิจกรรมบางอย่างจะถูกลดทอนความสามารถออกไป ดังนั้นการออกแบบห้องน้ำสำหรับผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ควรมีขนาดห้องที่กว้างเพียงพอต่อการจัดวางเก้าอี้นั่งอาบน้ำ และการใช้งานพร้อมกัน 2-3 คน เพื่อให้ผู้ดูแลช่วยทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างสะดวก เพื่อเป็นการรักษาความปลอดภัยให้กับผู้ป่วยเวลาใช้ห้องน้ำเพียงลำพังหรือในช่วงเวลากลางคืน และขอแนะนำว่าตอนกลางคืนให้เปิดไฟในห้องน้ำทิ้งไว้ด้วย จะได้สะดวกต่อการมองเห็นของผู้ป่วย

 

ทำประตูห้องให้ต่างกันหรือทำสัญลักษณ์ให้เด่นชัด

ในส่วนของที่อยู่อาศัยที่มีหลายห้องนั้น หากเป็นประตูที่แบบเดียวกันทั้งหมด จะทำให้ผู้ป่วยอัลไซเมอร์เกิดอาการมึนงงในการหาห้องนอนตนเองได้ยาก ในระยะแรกเริ่มของอาการ แนะนำให้ทาสีประตูห้องนอนใหม่หรือทำสัญลักษณ์เด่นๆให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถจดจำสีหรือสัญลักษณ์ประตูห้องของตนเองได้ง่าย มิเช่นนั้นผู้ป่วยจะเปิดประตูผิด ทั้งยังช่วยสื่อสารให้ผู้ป่วยจดจำและหาห้องในขณะอยู่ลำพังได้

 

เตรียมทางลาดไว้ให้พร้อม

หากศึกษาลำดับอาการของผู้ป่วยอัลไซเมอร์แล้ว พบว่าจะมีระยะที่ผู้ป่วยไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เลย หรือที่เรียกกันว่า “ผู้ป่วยติดเตียง” เมื่อถึงเวลานั้นบางเวลาอาจต้องพาไปหาคุณหมอเพื่อตรวจเช็กอาการ การเคลื่อนย้าย เดินทาง ย่อมลำบากขึ้น และอาจต้องใช้รถเข็น ตอนนี้ถ้ายังไม่จำเป็นก็ยังไม่ต้องสร้างก็ได้ แต่การดูแนวทางทำทางลาดเผื่อพื้นที่ไว้รองรับในอนาคตเป็นสิ่งสำคัญที่จะเอื้ออำนวยความสะดวกต่อการใช้งาน นอกจากนี้สำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่ยังคงเดินได้ ทางลาดย่อมมีความปลอดภัยกว่าบันได โดยทางลาดควรใช้สัดส่วน 1:12 ถ้าพื้นสูง 10 เซนติเมตร ต้องมีทางลาดยาวไปถึง 120 เซนติเมตร การเข็นรถเข็นจะได้ง่าย และทางลาดต้องใช้วัสดุต่างสัมผัส มองแล้วรู้ว่าต่างกันระหว่างพื้นเรียบ กับพื้นลาด

 

พื้นที่สำหรับผู้ดูแล

เมื่อไหร่ที่ผู้ป่วยเริ่มไม่สามารถดูแลตัวเองได้แล้ว ทำให้จำเป็นต้องมีคนคอยดูแลตลอดเวลา พื้นที่ภายในบ้าน โดยเฉพาะห้องนอนจึงควรมีบริเวณกว้างพอสำหรับผู้ดูแลด้วย เพื่อให้คนที่ดูแลได้พักผ่อน และไม่ให้รู้สึกอึดอัดจนเกินไป

 

ทำรั้วให้ล้อมรอบขอบชิด พร้อมติดเบอร์โทรไว้หน้าบ้าน

การล้อมรั้วบ้านจะเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยเดินออกนอกบริเวณบ้านได้โดยง่าย ซึ่งมีบางกรณีที่ผู้ป่วยหายตัวไปเลย ซึ่งจะเป็นเรื่องยุ่งยากในการตามหาตัวอีก ดังนั้นการล้อมรั้วบ้านจึงจำเป็นอย่างยิ่ง และควรทำให้มีทางเข้าออกเพียงทางเดียว นอกจากนี้ควรติดเบอร์โทรศัพท์ไว้ที่หน้ารั้วบ้านด้วย เผื่อเกิดอะไรขึ้นเพื่อนบ้านจะได้ให้ความช่วยเหลือทัน

 

ทั้งนี้การเตรียมพร้อมในเรื่องที่อยู่อาศัยนี้ไม่ได้เพียงเพื่อรองรับผู้ป่วยอัลไซเมอร์อย่างเดียว แต่ยังสามารถรองรับการใช้ชีวิตประจำวันสำหรับผู้สูงอายุทั่วไป หรือคนเจ็บที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ชั่วคราวได้อีกด้วย นอกจากนี้ตัวของผู้ดูแลหรือเจ้าของบ้าน ต้องเตรียมกาย เตรียมใจให้พร้อมรับมือกับแต่ละช่วงอาการของผู้ป่วยด้วย และอย่าดูแลผู้ป่วยจนลืมดูแลตัวเอง หาช่วงเวลาพักผ่อนให้เพียงพอ คิดบวก และเตรียมพร้อมรับมือกับผู้ป่วย เพียงเท่านี้คุณก็จะได้ดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีความสุข

 

 


ที่มา : บ้านและสวน ,บ้านไอเดีย , applicadthai.com



 

 

ความคิดเห็น