ไขข้อสงสัยคนอยากมีบ้าน “เครดิตบูโร” นั้นสำคัญไฉนเมื่อกู้ซื้อบ้าน?

ท่ามกลางสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่รุมล้อมสังคมไทยมาเป็นเวลานาน ตั้งแต่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จนถึงเวลานี้ที่ผู้บริโภคต้องรับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มพุ่งสูงต่อเนื่อง ส่งผลต่อแผนการใช้จ่ายของผู้บริโภคอย่างเลี่ยงไม่ได้ และนำไปสู่การก่อหนี้เพิ่มขึ้นทั้งโดยตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ เห็นได้ชัดจากผลสำรวจสถานภาพแรงงานไทย: กรณีศึกษากลุ่มตัวอย่างแรงงานไทยที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน ปี 2565 โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า แรงงานไทยมีหนี้ถึง 99% ส่งผลให้ปีนี้ภาระหนี้ของครัวเรือนเพิ่มขึ้น 5.09% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำสถิติสูงสุดในรอบ 14 ปี โดยแรงงาน 31.5% ยังเคยผิดนัดชำระหนี้อีกด้วย

แม้ปัจจัยแวดล้อมมากมายจะสร้างความท้าทายทางการเงินให้กับผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาใดที่อยู่อาศัยก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับผู้บริโภค แม้จะเป็นการเพิ่มภาระหนี้ก้อนใหญ่แต่มาพร้อมความมั่นคงในชีวิตและความคุ้มค่าของการลงทุนในระยะยาว จึงเป็นอีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคต้องการยื่นกู้ซื้อบ้านแม้จะมีภาระหนี้สินอยู่ก็ตาม

ข้อมูลจากแบบสอบถามความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อตลาดที่อยู่อาศัย DDproperty’s Thailand Consumer Sentiment Study รอบล่าสุด เผยว่า อุปสรรคใหญ่เมื่อยื่นขอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยมาจากรายได้และอาชีพที่ไม่มั่นคงถึง 59% ตามมาด้วยมีประวัติทางการเงินที่ไม่ดี (46%) และไม่มีเอกสารประกอบที่เพียงพอ (38%) สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาการเงินมีความสำคัญอันดับต้น ๆ ซึ่งกลายเป็นความกังวลและพัฒนาต่อเนื่องไปเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่า การมีประวัติหนี้สินแสดงอยู่บนเครดิตบูโรจะทำให้ถูกปฏิเสธสินเชื่อหรือยื่นกู้ไม่ผ่าน ซึ่งแท้จริงแล้วนี่เป็นความเข้าใจผิดที่สะสมมานาน สร้างความกังวลใจเกินกว่าเหตุและทำให้คนที่ต้องการมีบ้านจำนวนมากพลาดโอกาสเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยในช่วงเวลาที่เหมาะสมตามไปด้วย

“เครดิตบูโร” ไม่ใช่แบล็คลิสต์!

“เครดิตบูโร” หรือ “บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด” เป็นองค์กรเอกชนที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางจัดเก็บข้อมูลประวัติธุรกรรมทางการเงินของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อบัตรกดเงินสด สินเชื่อกู้ซื้อบ้าน ผ่อนรถยนต์ และอื่น ๆ รวมไปถึงประวัติด้านการเงินเกี่ยวกับธุรกรรมต่าง ๆ ทั้งการกู้ ผ่อน จ่ายทั้งหมดของเจ้าของข้อมูล ซึ่งจะปรากฏในรายงานข้อมูลเครดิตของบุคคลนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นประวัติดีหรือประวัติไม่ดีก็ตามเพียงเท่านั้น โดยไม่มีหน้าที่หรืออำนาจในการอนุมัติสินเชื่อใด ๆ

ส่วนหน้าที่ของการอนุมัติการกู้เงินจะเป็นของธนาคารหรือสถาบันการเงิน ซึ่งเมื่อผู้กู้ยื่นขอสินเชื่อต่อธนาคาร/สถาบันการเงินใด ๆ ธนาคาร/สถาบันการเงินนั้นจะนำข้อมูลจากเครดิตบูโรมาตรวจสอบคุณสมบัติต่าง ๆ ของผู้กู้ อาทิ พฤติกรรมการใช้เงินและวินัยในการผ่อนชำระหนี้ การผิดนัดชำระหนี้ ฯลฯ เพื่อประกอบการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ

อย่างไรก็ดี การยื่นขอสินเชื่อเพื่อซื้อบ้าน/คอนโดฯ ถือเป็นสินทรัพย์ที่มีราคาสูงและระยะเวลาผ่อนชำระยาวนาน ธนาคาร/สถาบันการเงินจึงมีเกณฑ์พิจารณาจากหลายปัจจัยประกอบกันและให้เป็นคะแนน (หรือเรียกว่าเป็นเครดิตสกอร์) หากผู้ขอยื่นกู้มีประวัติการชำระหนี้ที่ดีอย่างต่อเนื่อง คะแนนส่วนนี้สูงก็มีแนวโน้มที่จะได้รับการอนุมัติสูง แต่ถ้าหากผู้กู้มีประวัติการชำระหนี้ไม่ดี ผ่อนชำระหนี้ไม่ตรงตามกำหนด หรือมียอดค้างชำระหนี้เป็นจำนวนมาก ทำให้คะแนนส่วนนี้ต่ำกว่าเกณฑ์จะส่งผลให้ธนาคาร/สถาบันการเงินมีแนวโน้มที่จะไม่อนุมัติสินเชื่อได้ ดังนั้น “การติดแบล็คลิสต์” จึงเป็นเพียงคำนิยามของผู้ที่มีประวัติในการผ่อนชำระหนี้ที่ไม่ดีหรือไม่เป็นไปตามข้อตกลงเท่านั้น

“มีบ้านเมื่อ (เงิน) พร้อม” เจอประวัติหนี้เสีย เคลียร์อย่างไรก่อนกู้ซื้อบ้าน

ประวัติธุรกรรมทางการเงินที่ดีถือเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการอนุมัติสินเชื่อซึ่งคนอยากมีบ้านไม่ควรมองข้าม ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจซบเซาที่ส่งผลให้รายได้ผู้บริโภคผันผวนตามไปด้วย การซื้อบ้าน/คอนโดฯ ที่ถือเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับผู้ที่ต้องการสร้างครอบครัวก็อาจสะดุดลงได้ หากผู้บริโภคยังมีหนี้สินมากเกินไป ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty) เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของไทย แนะนำแนวทางเตรียมความพร้อมทางการเงินเพื่อซ่อมประวัติหนี้เสียบนเครดิตบูโร อุ่นเครื่องวินัยทางการเงินก่อนยื่นกู้ซื้อบ้าน ปูทางไปสู่การมีบ้านเมื่อพร้อม

     1. รู้เขารู้เรา เข้าใจสถานะเครดิตบูโร ผู้บริโภคควรตรวจสถานะเครดิตบูโรของตนก่อนจะยื่นขอกู้ซื้อบ้าน/คอนโดฯ เพื่อให้ทราบประวัติทางการเงินที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไร รวมทั้งได้ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลด้วย หากมีประวัติเครดิตบูโรที่ดีจะช่วยเพิ่มความมั่นใจในการยื่นขอสินเชื่อมากขึ้น หรือกรณีที่มีประวัติการเงินที่ไม่ค่อยสวยงาม ผู้บริโภคจะได้สามารถวางแผนแก้ไขได้ทันท่วงที ปกติแล้วรายงานข้อมูลเครดิตจะเก็บข้อมูลเครดิตที่ได้จากธนาคาร/สถาบันการเงินย้อนหลังเป็นเวลาไม่เกิน 36 เดือนหรือ 3 ปี โดยระบุสถานะบัญชีด้วยตัวเลขที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

  • 10 คือ สถานะปกติ เจ้าของบัญชีมีการชำระสินเชื่อตามจำนวนยอดเงินปกติ ตรงตามเงื่อนไข และไม่มียอดค้างชำระ
  • 11 คือ สถานะปิดบัญชี เจ้าของบัญชีได้ทำการชำระหนี้ตามยอดค้างหมดแล้ว
  • 12 คือ สถานะในการพักชำระหนี้ เจ้าของบัญชีได้ทำการขอพักชำระหนี้ที่เคยมียอดค้างชำระหนี้ตามนโยบายของรัฐ
  • 20 คือ สถานะในการค้างชำระหนี้ในระบบเกิน 90 วัน ซึ่งสถานะนี้ส่งผลเสียต่อเจ้าของบัญชี เนื่องจากมียอดค้างชำระหนี้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
  1. เติมเต็มวินัยจัดการหนี้อย่างเป็นระบบหากผู้บริโภคมีสถานะบัญชีเครดิตบูโรปกติ ขั้นตอนถัดมาคือควรวางแผนจัดการการเงินปัจจุบันให้เป็นระบบ โดยสรุปรายการภาระหนี้ทั้งหมดว่าเหลือจำนวนเท่าไร ใช้ระยะเวลาผ่อนชำระอีกนานเท่าใด ในระหว่างนี้มีเงินเหลือเพื่อเก็บออมไว้ใช้ในยามฉุกเฉินหรือไม่ และประเมินว่าหากมีภาระในการผ่อนหนี้บ้านเพิ่มขึ้นมา สภาพคล่องทางการเงินจะอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้หรือไม่ ส่วนในกรณีที่มีประวัติผิดนัดชำระหนี้ ผู้บริโภคควรสรุปรายรับและรายจ่ายที่มีก่อนเพื่อวางแผนการเงินใหม่ และประเมินความสามารถในการชำระหนี้คงค้างตามกำลังที่ตนไหว จากนั้นจึงขอเจรจากับธนาคาร/สถาบันการเงินเจ้าหนี้เพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ หรือขอพักชำระหนี้ หรือขอชำระหนี้ตามจำนวนขั้นต่ำ เพื่อให้สามารถปิดบัญชีหนี้คงค้างทั้งหมดให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ และหยุดการสร้างหนี้ใหม่สักระยะควบคู่ไปกับเริ่มออมเงิน โดยคำนวณว่าหากต้องผ่อนชำระหนี้บ้านต่อเดือนเท่านี้จะกระทบกับแผนการใช้จ่ายเพียงใด และทดลองเก็บเงินค่าผ่อนบ้านสำรองไว้ประมาณ 3-6 เดือน เพื่อเป็นการซ้อมและเช็กความพร้อมก่อนเป็นหนี้จริง
  2. เช็กสุขภาพการเงิน สร้างประวัติดีก่อนกู้เมื่อผู้บริโภคเคลียร์ปัญหาหนี้คงค้างให้กลับมามีสถานะบัญชีปกติแล้ว หากต้องการยื่นกู้เพื่อขอสินเชื่อที่อยู่อาศัย ควรเริ่มสร้างเครดิตใหม่ เช่น ขอสินเชื่อบัตรเครดิตที่จำเป็นต้องใช้และชำระเต็มวงเงินหรือตามข้อตกลงอย่างสม่ำเสมอ ไม่ขาดชำระ เพื่อสร้างเครดิตประวัติดีขึ้นมาทดแทน หรือขอยื่นกู้ซื้อที่อยู่อาศัยร่วมกับคนในครอบครัวที่มีประวัติเครดิตบูโรที่ดี เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการอนุมัติสินเชื่อ นอกจากนี้ ผู้บริโภคควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมก่อนกู้ซื้อบ้าน/คอนโดฯ ว่า ฐานเงินเดือนที่มีนั้นสามารถขอวงเงินกู้สูงสุดได้เท่าไร เป็นการวางกรอบในการเลือกซื้ออสังหาฯ ในราคาที่ไม่สร้างภาระจนเกินกำลัง พร้อมเปรียบเทียบแคมเปญสินเชื่อที่มีดอกเบี้ยและเงื่อนไขที่เหมาะสม และเตรียมเอกสารต่าง ๆ ให้พร้อมก่อนทำการยื่นกู้ แม้เครดิตบูโรจะเป็นปัจจัยหนึ่งในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ แต่การมีประวัติการเงินที่ดีก็ถือเป็นแต้มต่อสำคัญที่ช่วยเพิ่มโอกาสให้ได้รับการอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาอนุมัติสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยนั้น ธนาคาร/สถาบันการเงินมีเกณฑ์ในการพิจารณาจากหลายองค์ประกอบและมีนโยบายที่แตกต่างกันออกไป ข้อมูลเครดิตบูโรจึงเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในการพิจารณาเท่านั้น ไม่มีบทบาทกับการอนุมัติโดยตรงอย่างที่หลายคนเข้าใจผิด และในกรณีที่กู้ไม่ผ่าน ผู้ยื่นกู้จะได้รับหนังสือชี้แจงเหตุผลที่ไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อจากธนาคาร/สถาบันการเงิน ซึ่งจะเป็นแนวทางให้ผู้กู้สามารถนำมาใช้ปรับปรุงข้อมูลเพื่อแสดงศักยภาพในการผ่อนชำระ ก่อนจะขอยื่นกู้ใหม่อีกครั้งในอนาคตได้ เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของไทยอย่างดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (https://www.ddproperty.com) ได้รวบรวม “เครื่องคำนวณดอกเบี้ย & สินเชื่อ” เพื่อให้ผู้บริโภคที่อยากเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยได้ลองคำนวณข้อมูลทางการเงินที่สำคัญ ช่วยตรวจสอบความพร้อมก่อนตัดสินใจซื้อบ้าน/คอนโดฯ พร้อมอัปเดตข้อมูลข่าวสาร/ความรู้ในแวดวงอสังหาฯ ที่คนอยากมีบ้านต้องรู้และไม่ควรพลาด ช่วยเตรียมความพร้อมให้ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของบ้านหลังใหม่ได้อย่างมั่นใจ

*แหล่งข้อมูลอ้างอิง SimilarWeb

#แหล่งข้อมูลอ้างอิง Google Analytics ระหว่างเดือนกรกฎาคม – ธันวาคม 2021

ความคิดเห็น