แต่งบ้าน 11 สไตล์ ตามนิสัยของตัวเราเอง ชีวิตก็แฮปปี้

ถ้าเราอยากจะรู้นิสัยใคร เขาว่ากันว่าการแต่งบ้านนั้นสามารถบ่งบอกลักษณะนิสัยของผู้อยู่อาศัยได้เหมือนการเลือกเสื้อผ้าหรือรสนิยมด้านอื่นๆ เพราะบ้านสามารถสะท้อนความเป็นตัวตนของเจ้าของบ้านได้ ไม่ว่าจะเป็นการตกแต่ง การดีไซน์ สี และการเลือกเฟอร์นิเจอร์  เรื่องนี้จะเป็นจริงหรือไม่ ต้องลองมาทายกันดู

และถ้าหากใครยังไม่รู้ว่าตัวเองนั้นเหมาะกับบ้านสไตล์ ก็สามารถเข้ามาดูกันได้ว่านิสัยของตัวเองเหมาะกับการแต่งบ้านสไตล์ไหน จะได้นำไปไกด์ไลน์ในการแต่งบ้านของตัวเองได้เข้ากับตัวเอง จะได้ไม่รู้สึกอึดอัดหากเลือกตกแต่งไม่ตรงตามรสนิยมและนิสัย

 

แต่งบ้านสไตล์โมเดิร์น

คนที่ชอบแต่งบ้านสไตล์เรียบง่าย เน้นโทนสีขาว เทา และ ดำ เฟอร์นิเจอร์เส้นสายเรขาคณิต ผนังตกแต่งลายกราฟิกเก๋ ๆ ดูเฉียบคม โดดเด่นด้วยดีไซน์และวัสดุใหม่ ๆ เงาวับ หรือใส อย่างเช่น กระจก สเตนเลส และหินเทียม มักเป็นคนที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง มีความคิดเชิงตรรกะ ชอบวางแผนชีวิตในอนาคต ไม่ชอบอยู่ในกรอบ อยู่ง่ายกินง่ายนิยมความสะดวกสบาย เวลาว่างมักออกไปหาแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยเจอข้างนอก มากกว่าอุดอู้อยู่ในบ้าน มีความมุ่งมั่น และกล้าที่จะแตกต่าง

 

 

แต่งบ้านสไตล์คันทรี 

การตกแต่งสไตล์คันทรี่ จะเน้นความเรียบง่ายจากวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น เช่น อิฐ หิน ใส่สัมผัสที่อบอุ่นจากงานไม้ เฟอร์นิเจอร์หนัง ประดับผนังด้วยเขาสัตว์และงานฝีมือ มีกลิ่นอายความเป็นบ้านฟาร์ม ใช้สีขาว สีดำและสีเอิร์ทโทนเป็นหลัก กลมกลืนกับบรรยากาศธรรมชาติสไตล์ลูกทุ่ง คนที่ชอบบ้านสไตล์นี้จะเป็นคนที่มีอารมณ์ศิลปิน เห็นคุณค่าของธรรมชาติ มีความยุติธรรมสูง ชอบทำอาหารทานเอง สนใจงานช่างและ D.I.Y แม้จะดูอบอุ่นแต่ในขณะเดียวกันก็มีความสมบุกสมบันเด็ดเดี่ยว

 

แต่งบ้านสไตล์มินิมอลลิสต์

การแต่งบ้านสไตล์มินิมอลลิสต์ คือการแต่งบ้านแบบเรียบง่าย ไม่เน้นสีสันฉูดฉาด และการตกแต่งที่ดูรกรุงรังนัก ที่สำคัญคือกำลังได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ฝรั่ง และกำลังได้รับความนิยมในบ้านเราด้วยนะคะ บุคลิกของผู้ที่ควรแต่งบ้านสไตล์นี้ ได้แก่ ผู้ที่ชอบความสมบูรณ์แบบ, ผู้ที่ยึดติดในระเบียบแบบแผน, ผู้ที่มีความมุ่งมั่น และผู้ที่ชอบครุ่นคิดถึงแต่เรื่องของตัวเอง

 

แต่งบ้านสไตล์สแกนดิเนเวียน

อีกหนึ่งสไตล์การแต่งบ้านที่เป็นเอกลักษณ์ โดยการแต่งบ้านสไตล์นี้จะเน้นเฟอร์นิเจอร์ที่นุ่ม ๆ เช่นเก้าอี้นวมนุ่ม ๆ และยังเน้นความอบอุ่นสะดวกสบาย สำหรับคนที่ชอบสไตล์นี้จะเป็นมิตร เข้ากับคนง่าย, คนที่ชอบเข้าสังคม, คนที่สนใจในวัฒนธรรม และคนที่ชอบความหรูหรา

 

แต่งบ้านสไตล์คอนเท็มโพรารี่ 

การตกแต่งบ้านร่วมสมัย แม้จะไม่บ่งบอกชัดเจนว่าเป็นของยุคไหน แต่โดยภาพรวมคือการประยุกต์ร่วมเข้ากับความสมัยใหม่ (ในขณะนั้น)  จึงเป็นสไตล์ที่ยืดหยุ่นที่สุดไม่มีกฎตายตัว แต่ในภาพรวมดูเรียบง่าย สบาย อบอุ่น และใกล้ชิดธรรมชาติ คล้ายรูปแบบ modern แต่เก่ากว่า เป็นความสมดุลระหว่างความทันสมัยกับธรรมชาติได้พอดี ดูเบาลง ไม่แข็งกระด้าง เน้นเฟอร์นิเจอร์ที่เป็นไม้ที่มีรายละเอียดเพิ่มขึ้น เช่น ใช้ตู้ไม้มีคิ้วบัว โทนสีอุ่นๆ ซึ่งพอจะบอกได้ว่าคนรักบ้านแบบนี้เป็นคนที่ดูอบอุ่น เรียบง่าย มองโลกในแง่ดีและเป็นที่ปรึกษาที่ดี ชอบรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น และมีระบบระเบียบค่อนข้างสมบูรณ์แบบ ด้านอาชีพการงานส่วนใหญ่จะเน้นอาชีพข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือต้องการความมั่นคงให้กับชีวิต

 

แต่งบ้านสไตล์วินเทจ 

สไตล์การแต่งบ้านแบบลักซ์ชัวรี่วินเทจที่ตกแต่งด้วยเครื่องเรือนมีลวดลายอ่อนหวาน และองค์ประกอบของคิ้วบัว ดอกไม้ งานแกะสลัก หรือผ้าลูกไม้ เน้นความสง่างามหรูหรา ดูทรงคุณค่า คนที่ชอบแต่งแบบวินเทจหวาน ๆ รายละเอียดมาก ๆ มักจะสนใจเรื่องราวของศิลปวัฒนธรรม การเมือง และประวัติศาสตร์ มีความอนุรักษนิยม ดูเข้มงวดมีหลักการ ใจกว้างและแฝงด้วยเสน่ห์ มีความพิถีพิถันสูง และเป็นผู้ที่มีชอบคิดซับซ้อนมาก, คนที่มีความมุ่งมั่น, คนที่มีแรงบันดาลใจ, คนที่มีความรอบรู้ และคนที่ชอบความสมบูรณ์แบบ

 

ตกแต่งห้องสไตล์โมเดิร์นวินเทจ

ด้วยการดูองค์ประกอบในภาพรวมให้เรียบง่าย แต่ใส่รายละเอียดของตกแต่งย้อนยุคที่มีคุณค่าทางใจ อย่างเช่นกระเป๋าเดินทาง หีบเหล็ก โทรศัพท์รุ่นคุณปู่ โซฟาดึงดุม กรอบรูปเก่า รถจักรยานยนต์รุ่นเก๋า เป็นต้น บุคลิกของคนที่ชอบสไตล์นี้มักจะชอบเข้าสังคม ชอบความสมบูรณ์แบบ และมีพลังในตัวเอง ตรงไปตรงมา ชัดเจนในตัวเองรู้จักตัวเองดีว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร มุมมองทางศิลปะไม่เหมือนใคร รักครอบครัว เห็นคุณค่าของความทรงจำและอดทนรอคอยได้ เพราะของบางชิ้นต้องใช้เวลาในการได้มาครอบครอง

 

แต่งบ้านด้วยป๊อปอาร์ตที่แสนสดใส

สไตล์ป๊อปอาร์ตเป็นสิ่งที่เท่เป็นเอกลักษณ์อยู่แล้ว ซึ่งการตกแต่งบ้านด้วยการใช้งานป๊อปอาร์ตเป็นการแต่งบ้านที่ทันสมัย และโดดเด่นมาก ยิ่งหากเลือกใช้สีฉูดฉาด และรูปภาพที่แตกต่างออกไปจากแบบดั้งเดิม โดยอาจจะเป็นรูปที่คุณชอบก็ได้ นั่นจะยิ่งบ่งบอกความเป็นตัวคุณเพิ่มมากขึ้นเป็นกอง สำหรับผู้ที่ชอบคิดอะไรซับซ้อน, ผู้ที่ชอบความต่าง, ผู้ที่รักความสวยงาม และผู้ที่มีความสดใส จึงเหมาะแก่สไตล์นี้ ที่มีกลิ่นอายความต่างอย่างสร้างสรรค์ในตัวเอง

 

แต่งบ้านสไตล์ญี่ปุ่น

การแต่งบ้านสไตล์ญี่ปุ่น ถือว่าเป็นสไตล์ที่เข้มงวดมากกว่าการแต่งบ้านแบบอื่นมาก เพราะมีแบบแผนของตัวเองมาอยู่แล้ว โดยการแต่งบ้านสไตล์นี้จะเน้นการใช้แสงไฟที่เป็นธรรมชาติ ใช้ของตกแต่งง่าย ๆ  อากาศถ่ายเทสะดวก และตกแต่งแบบธรรมชาติ ซึ่งอาจจะใช้หิน หรือไม้เข้ามาช่วยในการตกแต่ง จะช่วยให้ความโดดเด่นของความเป็นญี่ปุ่นถูกเผยออกมามากขึ้น สำหรับผู้ที่ชอบความเรียบง่าย, คนที่มีทัศนคติบวก, คนที่ชอบจัดระเบียบ, คนที่กระตือรือร้น และมีความคิด

 

แต่งบ้านสไตล์ลอฟท์

คนที่ชื่นชอบบ้านในสไตล์ลอฟท์ ที่เน้นวัสดุดิบๆ อย่างเช่น แผ่นไม้ไม่ทำสี ปูนเปลือย ผนังโชว์แนวเรียงตัวของอิฐ ตกแต่งด้วยงานเหล็ก ใส่หลอดไฟแบบวินเทจเปิดให้เห็นสายไฟ เน้นความโปร่งโล่งด้วยเพดานสูง ดูมีทั้งความคมชัดในเนื้อวัสดุและโครงสร้างภายใน ที่มีกลิ่นอายของความเป็นยุคอุตสาหกรรม แสดงว่าบุคลิกเป็นคนรักความสุนทรีย์ ลุย ๆ และช่างคิด ชื่นชอบงานศิลปะ หนังสือ บทเพลงและกาแฟ วิถีชีวิตจึงค่อนข้างสโลว์ไลฟ์ มักอยู่ติดบ้านเพราะรู้สึกว่าบ้านเป็นที่ที่อยู่แล้วมีความสุขที่สุด สนใจเรื่องวัฒนธรรมไม่ว่าจะเป็นของชนชาติไหน จึงมีความเป็นมิตรสูง เท่และมีพลัง 

 

แต่งบ้านสไตล์คลาสสิกสุดหรู

ไม่ว่าจะอย่างไร การแต่งบ้านแบบคลาสสิกก็ยังอมตะเหนือกาลเวลาเสมอ และยังมีคุณค่าอีกด้วย ลองนึกถึงพระราชวังในประวัติศาสตร์ ที่ดูโอ่อ่าอลังการไปด้วยสีทอง และม่านกำมะหยี่ผืนใหญ่เป็นจีบ ๆ ที่ทำให้สัมผัสได้ถึงความสวยงามหรูหราแบบไม่มีใครจะมาเทียบเทียมได้ สำหรับคนที่ชอบสไตล์การแต่งบ้านแบบนี้ จะเป็นคนที่อยู่ในชนชั้นสูง, คนที่มีเสน่ห์, คนที่ซื่อตรง, คนที่เข้มงวด และไม่ยอมแก่เสียที 

 

อย่างไรก็ตามการแต่งบ้านในปัจจุบันนั้นคนส่วนใหญ่มักจะแต่งตามกระแสที่มาในตอนนั้นๆ แล้วเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ซึ่งมันเป็นเหตุให้เปลืองเงินไปเปล่าๆ และขอให้มันออกมาสวยก็พอ แต่ความจริงแล้วการแต่งบ้านที่เหมาะสมกับตัวเองนั้นไม่ได้แต่งให้เพียงแค่สวยอย่างเดียวเท่านั้น แต่ควรแต่งให้ตรงกับนิสัยและรสนิยมของตัวเองให้มากที่สุด เพื่อความยืนยาวและไม่สิ้นเปลือง

 

ที่มา : kapook.com, banidea.com



 

ความคิดเห็น