เปิดคำนิยาม “Smart City” โครงการเมืองอัจฉริยะที่จะมาเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับคนไทย

ในหลายประเทศได้มีพัฒนาบ้านเมืองให้ก้าวทันเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยการการสร้าง Smart City (เมืองอัจฉริยะ) ซึ่งในประเทศไทยเองก็มีการสร้างโครงการนี้อยู่หลายแห่งทั่วประเทศด้วยกัน  แต่น้อยคนนักที่จะทราบว่าโครงการนั้นอยู่ที่ไหนและไม่ทราบความหมายของ Smart City อย่างแท้จริง

Smart City (เมืองอัจฉริยะ) คือ เมืองที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยมาเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการและการบริหารจัดการเมือง ลดค่าใช้จ่ายและการใช้ทรัพยากร ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง เน้นการออกแบบที่ดี ภายใต้แนวคิดการพัฒนา เมืองน่าอยู่ เมืองทันสมัย ให้ประชาชนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข  อย่างยั่งยืน โดย Smart City แบ่งเป็น 7 ประเภทหลักๆ ได้แก่

 

สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) คือการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริการจัดการอย่างเป็นระบบ คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศเป็นหลัก

เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) หมายถึง เมืองที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในระบบเศรษฐกิจและบริหารจัดการ ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) หมายถึง การบริหารจัดการด้านพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความสมดุลระหว่างการผลิตและการใช้พลังงานในพื้นที่เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานและลดการพึ่งพาพลังงานจากระบบโครงข่ายไฟฟ้าหลัก

การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) หมายถึง การพัฒนาระบบบริการภาครัฐ เพื่ออำนวยความสะดวก แก่ประชาชน มุ่งเน้น ความโปร่งใสและการมีส่วนร่วม และมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องผ่านการประยุกต์ใช้นวัตกรรมบริการ

การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) หมายถึง การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกโดยคำนึงถึงหลักอารยสถาปัตย์ ให้ประชาชนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี มีความปลอดภัย และมีความสุขในการดำรงชีวิต

การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) หมายถึง มุ่งเน้นพัฒนาระบบจราจรและขนส่งอัจฉริยะเพิ่มประสิทธิภาพและความเชื่อมโยงของระบบขนส่งและการสัญจรที่หลากหลาย เพิ่มความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทางและขนส่ง รวมถึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) หมายถึง มุ่งพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะ และสิ่งแวดล้อม ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจตลอดจนเปิดกว้างสำหรับความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และการมีส่วนร่วมของประชาชน

 

วันนี้นอกจากคบคิดจะมาบอกความหมายของ Smart City แล้ว เรายังจะมาบอกข้อดีของการเป็นเมืองอัจฉริยะนี้ด้วย อีกทั้งเราได้ทำการรวบรวมโครงการ Smart City ในประเทศไทยบางส่วนมาฝากอีกด้วย โดยข้อดีของการเป็นเมืองอัจฉริยะนั้นก็คือ จะมีการจัดการพลังงานได้อย่างคุ้มค่า โดยจะเป็นการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน มีความยืดหยุ่นสูงในเลือกใช้เทคโนโลยีที่ง่ายต่อการเรียนรู้และการใช้งาน ข่าวสารข้อมูลเปิดกว้าง สามารถเข้าถึงผู้ใช้ได้ในทุกระดับ ทำให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ และยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คนให้มีความปลอดภัย รวมถึงยังเป็นแหล่งบ่มเพาะนักธุรกิจและนักพัฒนาเพื่อสร้างให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมในอนาคตอีกด้วย และหากทั่วโลกมีโครงการ Smart City  เชื่อว่าคนทั่วโลกจะมีความสุขมากแน่ๆ และโลกก็คงสวยงามยิ่งขึ้น

 

 

ซึ่งตอนนี้ก็มีหลายแห่งในประเทศไทยได้ดำเนินโครงการไปบางส่วนแล้ว เชื่อว่าอีกไม่นานเราคงจะได้เห็นโครง Smart City ที่เสร็จสมบูรณ์ เร็วๆนี้

โครงการ Chula SmartCity

เป็นโครงการ SmartCity ในกรุงเทพฯ โดยพัฒนาพื้นที่บริเวณสามย่านให้เป็นย่านแห่งนวัตกรรมที่สร้างสรรค์คุณค่าร่วมแก่ชุมชนและสังคม ผสานคุณภาพชีวิตและธุรกิจ มุ่งหวังให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการดำรงชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน โดยมีแนวคิดในการพัฒนา 4 แนวคิดหลัก หรือ “SMART 4” คือ Smart Mobility , Smart Energy , Smart Environment และ Smart Living

 

โครงการ ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต : ต้นแบบเมืองมหาวิทยาลัยอัจฉริยะ

โครงการ ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ได้เข้าสู่โครงการ Thammasat Smart City  โดยทาง มธ. ได้ทำการสร้างสภาพแวดล้อมภายในมหาวิทยาลัยให้เอื้อต่อการใช้ชีวิตอย่างประหยัดพลังงาน และรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การพัฒนาเทคโนโลยีอุปกรณ์อัจฉริยะและแอปพลิเคชันต่างๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเมืองมหาวิทยาลัยอัจฉริยะ

 

นิด้า : มหาวิทยาลัยอัจฉริยะ รู้รักษ์พลังงาน สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

เป้าหมายหลักคือต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตคนเมือง นักศึกษา เกื้อหนุนการเรียนการสอน การทำงานของบุคลากรในสถาบัน รวมถึงเป็นประโยชน์กับชุมชนโดยรอบ นอกจากนี้ยังมีการใช้ประโยชน์จากการลดพลังงานอีกด้วย ซึ่งในปัจจุบัน โครงการย่อยๆ หลายส่วนได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว

 

โครงการ WHIZDOM 101

โครงการที่อยู่อาศัย ที่ก้าวเข้าสู่ Smart City ในทำเลสุขุมวิท โดยมุ่งพัฒนาโครงการด้วยนวัตกรรมการอยู่อาศัยแบบยั่งยืน (Sustainnovation) เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้กับทุกคนทั้งผู้อยู่อาศัย และชุมชนโดยรอบ สร้างระบบนิเวศที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างมูลค่าเพิ่ม ตลอดจนสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับทุกสรรพสิ่งและเป็นประโยชน์ต่อสังคม

 

โครงการ ขอนแก่น Smart City

จังหวัดขอนแก่น ได้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาเมืองขอนแก่นสมาร์ตซิตี้ 2029 และกรอบแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองที่มีความพร้อมในภูมิภาคเพื่อเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ใน 6 ประเด็น ประกอบด้วย Smart Mobility , Smart Living , Smart Environment, Smart Economy และ Smart Governance 

 

 

นี่เป็นเพียงโครงการ Smart City เพียงบางส่วนที่เรารวบรวมมาฝาก ซึ่งยังมีอีกหลายจังหวัดที่มีโครงการสร้าง Smart City ไม่ว่าจะเป็น ระยอง พัทยา เชียงใหม่ หรือภูเก็ต และเชื่อว่าในอนาคตทั่วประเทศไทยจะเป็น Smart City  เพราะรู้ถึงข้อดีของโครงการนี้ที่มาช่วยบริหารทรัพยากรของเมืองให้สมดุล และช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนและสิ่งแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตามความสำเร็จของ Smart City จะเกิดขึ้นได้นั้นจะต้องได้รับความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่าย ซึ่งรวมถึงประชาชนที่อาศัยอยู่ด้วย

 

 

ที่มา :  smartcitythailand.or.th, expresso.com, pmcu.co.th, ฐานเศรษฐกิจ,thai-smartgrid.com



 

 

 

 

 

 

 

 

ความคิดเห็น