ลุมพินี วิสดอมฯ ระบุสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์พื้นฐานในโครงการอสังหาฯ – ตอบโจทย์การใช้รถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต
ในปัจจุบันผู้คนเริ่มหันมาใช้ รถไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก ทำให้ Ev Charger เป็นสิ่งที่จำเป็น
นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด บริษัทด้านวิจัยและพัฒนาในเครือบริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN) กล่าวถึง แนวทางการพัฒนาโครงการที่พักอาศัยในปัจจุบันเพื่อตอบโจทย์อนาคตว่า การพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันและอนาคตจำเป็นต้องมีสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในโครงการ ผลจากวิกฤติพลังงานที่เกิดขึ้น ผนวกกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน โดยกำหนดให้มีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยอยู่ที่ 1.2 ล้านคัน ในปี 2579 และจากรายงานของกรมการขนส่งทางบก ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2562-2564 มีจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าทั้งแบบ HEV (Hybrid Electric Vehicle),BEV (Battery Electric Vehicle), และ PHEV (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) จดทะเบียนในประเทศรวมทั้งสิ้น 95,034 คัน เฉพาะปี 2564 มีจำนวนยอดจดทะเบียนรถไฟฟ้าทั้ง HEV, BEV, PHEV ทั้งสิ้น 40,710 คัน เติบโต 43% จากปี 2563 ในขณะตัวเลขยอดจองรถยนต์นั่งไฟฟ้า หรือ xEV ในงานมอเตอร์โชว์ 23 มีนาคม – 3 เมษายนที่ผ่านมา มียอดจอง 3,100 คัน หรือคิดเป็น 10% ของยอดจองรถยนต์ทั้งหมดในงาน
โดยแนวโน้มดังกล่าวผนวกกับนโยบายของรัฐบาลสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศโดยประกาศลดอัตราภาษี และการยกเว้นภาษีอากรศุลกากรสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (รถ EV) กรณีรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน แบบแบตเตอรี่สำเร็จรูปที่นำเข้ามาทั้งคัน 20% – 40% “ลุมพินี วิสดอม”คาดว่ายอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้านั่งในปี 2565 มีแนวโน้มที่จะเติบโตไม่น้อยกว่า 50% โดยประมาณว่าจะมีการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าทั้ง 3 แบบไม่น้อยกว่า 61,065 คัน ทำให้ยอดรถยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนในประเทศไทยแตะระดับ 156,100 คัน การเติบโตของจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ทำให้ความต้องการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยมีแนวโน้ม เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันจากรายงานของสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย Electric Vehicle Association of Thailand – EVAT ระบุว่าในปี 2564 (วันที่ 22กันยายน 2564) มีจำนวนสถานีชาร์จไฟ 693 แห่ง และมีหัวจ่ายประมาณ 2,285 หัวจ่าย และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต
โดยเฉพาะการติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า และหัวจ่ายในที่พักอาศัย ทั้งโครงการอาคารชุดและโครงการบ้านพักอาศัย เพื่อตอบโจทย์กับความต้องการของผู้ซื้อที่อยู่อาศัย จากผลการศึกษาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตระบุว่า การชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าปัจจุบันมีอยู่ 3 รูปแบบ
ประเภทที่ 1 : การอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าแบบใช้สาย เป็นรูปแบบการอัดประจุหลักที่ทั่วโลกนิยมใช้เนื่องจากมีความคุ้มค่าในการลงทุน มีประสิทธิภาพสูงและสามารถประยุกต์ใช้ร่วมกับเทคโนโลยีการจัดการพลังงานได้
ประเภทที่ 2 : การอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าแบบไร้สายโดยสามารถอัดประจุไฟฟ้าทั้งตอนจอดอยู่กับที่ หรือตอนกำลังเคลื่อนที่อยู่ ซึ่งปัจจุบัน พบว่ามี e-Road ซึ่งเป็นถนนที่สามารถชาร์จแบตเตอรี่กลับเข้าไปในยานยนต์พลังงานไฟฟ้าได้ตลอดทั้งเส้นทางในประเทศอิสราเอล โดยมีความยาวริเริ่มอยู่ที่ 600 เมตร อย่างไรก็ดี การอัดประจุรถไฟฟ้าแบบไร้สายในประเทศไทยปัจจุบันอยู่ในระหว่างการทดลองและพัฒนา
ประเภทที่ 3 : การสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Battery Swapping) ซึ่งเป็นการอัดประจุแบตเตอรี่ไว้ก่อนล่วงหน้าเพื่อรอการสับเปลี่ยนกับแบตเตอรี่ที่มีค่าสถานะของประจุที่ต่ำกว่า อย่างไรก็ดีระยะเวลาและความยากง่ายของการถอดแบตเตอรี่อัตโนมัติยังขึ้นอยู่กับขนาดของแบตเตอรี่ด้วย ปัจจุบันจึงนิยมใช้วิธีการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่กับรถขนาดเล็ก เช่น รถสองล้อไฟฟ้า รถสามล้อไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า
จากผลการศึกษาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตระบุว่าสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแต่ละประเภทใช้เงินลงทุนเฉลี่ยประมาณ 2-3 ล้านบาท ต่อการติดตั้ง AC 1 เครื่อง หรือ DC 1 เครื่อง พร้อมที่จอดรถโดยมีระยะเวลาคืนทุนประมาณ 2-4 ปี
ซึ่งแนวโน้มและผลการศึกษาดังกล่าว “ลุมพินี วิสดอมฯ” ได้ทำการศึกษาการออกแบบและพัฒนาพื้นที่โครงการอาคารชุดพักอาศัยใหม่ รวมทั้งการปรับปรุงพื้นที่ในโครงการอาคารชุดพักอาศัยเดิมเพื่อก่อสร้างสถานีชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า โดยคำนึงถึง 3 ปัจจัยหลัก ในการก่อสร้างสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในโครงการประกอบด้วย
1. การสำรวจปริมาณการใช้รถยนต์ไฟฟ้า หรือแนวโน้มการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในอนาคตของผู้พักอาศัย เพื่อทราบถึงปริมาณรถยนต์ไฟฟ้าที่แน่ชัด ซึ่งจะส่งผลต่อการจัดสรรพื้นที่ที่เหมาะสมและไม่กระทบต่อจำนวนที่จอดรถยนต์ทั่วไปของผู้พักอาศัย
2. การเลือกพื้นที่สำหรับสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า สำหรับคอนโดมิเนียมความเป็นส่วนตัวของผู้พักอาศัย เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงอย่างยิ่งการเลือกพื้นที่ในการติดตั้งสถานีชาร์จ ควรเป็นพื้นที่บุคคลภายนอกไม่สามารถเข้าถึงได้ เช่น บริเวณลานจอดรถที่มีระบบรักษาความปลอดภัยในการเข้า-ออกของรถยนต์ แต่หากต้องการให้สถานีชาร์จสร้างรายได้จากการให้บริการบุคคลภายนอก พื้นที่ติดตั้งสถานีควรอยู่บริเวณที่ไม่ส่งผลรบกวนต่อความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของผู้พักอาศัย เช่น บริเวณหน้าทางเข้าก่อนผ่านจุดรักษาความปลอดภัยหรือจุดสแกนบัตรเข้า-ออกของโครงการ ในกรณีที่โครงการมีพื้นที่ที่เหมาะสมและเพียงพอ
3. การบริหารจัดการของนิติบุคคล เพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้พักอาศัยทุกคนนิติบุคคลจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีมาตรการในการบริหารจัดการ ทั้งในด้านการบริหารพื้นที่จอดรถสำหรับรถยนต์ทุกประเภทการบริหารต้นทุนและรายได้จากสถานีชาร์จ รวมถึงการดูแลและซ่อมบำรุงสถานีชาร์จ ที่กล่าวมาข้างต้น ผู้พักอาศัยทุกคนมีส่วนได้ส่วนเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นบุคคลที่มีรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถยนต์ทั่วไป การบริหารจัดการที่ดีและโปร่งใสนำมาซึ่งการรักษาผลประโยชน์ของผู้พักอาศัยทุกคน
สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ากำลังกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยปัจจุบันสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) วางเป้าหมายในปี 2573 ไทยควรมีสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า 567 แห่ง และเครื่องอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าแบบ Fast Charge 13,251 เครื่องครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วไทย เน้นเข้าถึงง่าย ต้นทุนเหมาะสมจึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ทั้งอาคารชุด และบ้านพักอาศัย ในการสร้างสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าโดยร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับแผนการพัฒนาสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าของ สนพ. เพื่อตอบโจทย์กับความต้องการของผู้ซื้อที่อยู่อาศัยในปัจจุบันและในอนาคต