พัฒนาระบบการเดินทาง "Feeder" ทดลองเดินรถ Shuttle Bus เชื่อมต่อรถไฟฟ้า 3 เส้นทาง

ความสะดวกสบายถือว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญของการเดินทาง เพราะในปัจจุบันการใช้ชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เช่น การใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบ โดยเฉพาะคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองกรุง แต่ก็ยังต้องการความสะดวกสบายอยู่ ดังนั้นวันนี้คบคิดจะพามารู้จักกับ “ระบบ Feeder” ที่จะช่วยให้การเดินทางในช่วงเวลาอย่างเร่งรีบในเมืองกรุงนั้นสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น

ระบบ Feeder เป็นระบบการเชื่อมต่อ “ล้อ-ราง-เรือ” การเดินทางให้ช่วยให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น  โดยที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะอย่างต่อเนื่อง โดยเปิดสถานีรถไฟฟ้าเพิ่มทั้งบนดินและใต้ดิน เพื่อขยายให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่ว กทม. และเพิ่มความสะดวกสบายในการเดินทางของประชาชน

 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังไม่พอที่จะสามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนในกรุงเทพฯได้อย่างครบถ้วน เนื่องจากยังไม่รองรับการเดินทางตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ทำให้คนส่วนมากยังคงเลือกใช้รถส่วนตัวอยู่เช่นเดิม ซึ่งทำให้การใช้รถส่วนตัวยังกลายเป็นทางเลือกที่จำเป็นและคนเลือกใช้มากกว่าระบบขนส่งสาธารณะ

กทม. จึงได้เตรียมพัฒนา ระบบ Feeder  เพื่อให้บริการเสริมในส่วนที่ระบบหลักยังไปไม่ถึง โดยจะร่วมกับภาคเอกชนทดลองเดินรถ Shuttle Bus ให้เป็นขนส่งระบบรอง (feeder) ในเส้นทางที่ยังไม่มีบริการขนส่งมวลชนอื่นๆ และหลีกเลี่ยงการทับซ้อนเส้นทางเดินรถขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และรถสองแถว ที่ให้บริการในปัจจุบัน โดยจะมีจุดจอดรับ-ส่งผู้โดยสารเฉพาะจากต้นทางไปยังปลายทางสถานีรถไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นการให้บริการแก่กลุ่มผู้ใช้งานที่ต้องการเดินทางมายังสถานีรถไฟฟ้าโดยเฉพาะ

 

โดยจะเริ่มทดลองเดินรถประมาณเดือนมีนาคม 2563 ใน 3 เส้นทางนำร่อง  ระหว่างช่วงเวลา 05.00 – 21.00 น. โดยไม่คิดค่าบริการ ได้แก่  สถานีขนส่งสายใต้ใหม่ เขตตลิ่งชัน – สถานีรถไฟฟ้า BTS บางหว้า  , ดินแดง – สถานีรถไฟฟ้า BTS สนามเป้า และ  ชุมชนเคหะร่มเกล้า – สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิ้งก์ ลาดกระบัง

 

นอกจาก 3 เส้นทางนำร่องข้างต้นแล้ว กทม.ยังมีเส้นทางอื่นที่อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้อีก 7 เส้นทาง ได้แก่ พระราม 6 – สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ , เอกมัย – ทองหล่อ , ท่าเรือกรุงเทพ เขตคลองเตย – สถานีรถไฟฟ้า BTS อ่อนนุช , ซอยเสนานิคม – สถานีรถไฟฟ้า BTS เสนานิคม , สยามสแควร์ – สนามหลวง , ถนนสามเสน (ดุสิต) – ถนนมิตรไมตรี (ดินแดง) และ  สายไหม – สถานีรถไฟฟ้า BTS สะพานใหม่ รวมทั้งศึกษาเส้นทางอื่น ๆ ที่มีความเหมาะสมสำหรับเปิดให้บริการเดินรถ Shuttle Bus เพิ่มเติมอีกด้วย

ทั้งนี้ในช่วงเปิดทดลองบริการเดินรถ Shuttle Bus จะมีการเก็บข้อมูลเพื่อนำฐานข้อมูลมาพัฒนา ขยายเส้นทางการเดินรถต่อไปอีก เพื่อให้ครอบคลุมและตอบโจทย์ต่อการใช้บริการของประชาชน

 

ที่มา : Earth Pongsakorn Kwanmuang

ความคิดเห็น