ธุรกิจยื่นจดเครื่องหมายการค้ามากที่สุดในรอบปีที่ผ่านมา

เครื่องหมายการค้า หนึ่งในองค์ประกอบทางธุรกิจที่สำคัญมาก วันนี้จะพามารู้จักเครื่องหมายการค้า และเทรนด์การยื่นจดเครื่องหมายการค้าในช่วงปีที่ผ่านมา ว่ามีจำนวนเท่าใด ประเภทธุรกิจแบบใดที่ขอยื่นจดเครื่องหมายการค้ามากที่สุด ตลอดจนขั้นตอนในการพิจารณาของกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ปราบเซียนนักธุรกิจทั้งหลายมานักต่อนัก และแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์สำหรับผู้ที่ต้องการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้เร็วขึ้น

เครื่องหมายการค้า คือ เครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ หรือตรา ที่ใช้กับสินค้าหรือบริการ ซึ่งเครื่องหมายที่ให้ความคุ้มครองตาม พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2543 และ(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2559 มี 4 ประเภท ได้แก่

  1. เครื่องหมายการค้า (Trade Mark) คือ เครื่องหมายที่ใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับสินค้าเพื่อแสดงว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายนั้นแตกต่างกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น เช่น บรีส มาม่า กระทิงแดง เป็นต้น
  2. เครื่องหมายบริการ (Service Mark) คือ เครื่องหมายที่ใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับบริการ เพื่อแสดงว่าบริการที่ใช้เครื่องหมายนั้นแตกต่างกับบริการที่ใช้เครื่องหมายบริการของบุคคลอื่น เช่น เครื่องหมายของสายการบิน ธนาคาร โรงแรม เป็นต้น
  3. เครื่องหมายรับรอง (Certification Mark) คือ เครื่องหมายที่เจ้าของเครื่องหมายรับรองหรือจะใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการของบุคคลอื่น เพื่อเป็นการรับรองคุณภาพของสินค้า หรือบริการนั้น เช่น เชลล์ชวนชิม แม่ช้อยนางรำ ฮาลาล เป็นต้น
  4. เครื่องหมายร่วม (Collective Mark) คือ เครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการที่ใช้โดยบริษัทหรือวิสาหกืจในกลุ่มเดียวกัน หรือโดยสมาชิกของสมาคม กลุ่มบุคคล หรือองค์กรอื่นใดของรัฐหรือเอกชน เช่น ตราช้างของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด เป็นต้น

ในปี พ.ศ. 2564 และ 2563 ที่ประเทศไทยเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 แต่ปรากฏว่าเป็นปีที่มีการส่งคำขอยื่นจดเครื่องหมายการค้ากับกรมทรัพย์สินทางปัญญาจำนวนมาก คือ 64,371 ราย และ 65,916 ราย ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2554 และ 2553 ที่มีการยื่นจดเครื่องหมายการค้า 38,950 ราย และ 37,656 ราย ตามลำดับ โดยแบ่งตามจำพวกดังนี้

  • ผลิตภัณฑ์เคมี ยา เครื่องสำอาง
  • โลหะ เครื่องมืออุปกรณ์ วัสดุก่อสร้าง
  • เครื่องจักรกล เครื่องมือเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานพาหนะ อาวุธ
  • โลหะมีค่า นาฬิกา เครื่องหนัง
  • เครื่องดนตรี ของเล่น อุปกรณ์กีฬา ยาสูบและอุปกรณ์
  • กระดาษ เครื่องเขียน เครื่องพิมพ์
  • ยาง พลาสติก
  • เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ในครัวเรือน ผลิตภัณฑ์เย็บปักถักร้อย พรม วัสดุปูพื้น
  • เส้นใย เส้นด้าย สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม
  • อาหาร เครื่องดื่ม ของหวาน
  • เครื่องหมายบริการ
  • เครื่องหมายรับรอง
  • เครื่องหมายร่วม

โดยจำพวกที่มีการส่งคำขอยื่นจดเครื่องหมายการค้ามากที่สุดในปี พ.ศ. 2564 5 อันดับแรก คือ

เครื่องหมายบริการ 16,048 ราย ผลิตภัณฑ์เคมี ยา เครื่องสำอาง 13,916 ราย เครื่องจักรกล เครื่องมือเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานพาหนะ อาวุธ 11,305 ราย อาหาร เครื่องดื่ม ของหวาน 9,346 ราย เส้นใย เส้นด้าย สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม 4,371 ราย

แต่จากสถิติของกรมทรัพย์สินทางปัญญาพบว่า จำนวนการยื่นจดเครื่องหมายการค้า ที่ผ่านการจดทะเบียนมักมีสัดส่วนเป็นครึ่งหนึ่งเสมอ เนื่องจากปริมาณคำขอที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับกระบวนการพิจารณาที่ต้องอาศัยความรอบคอบ รัดกุม หลายขั้นตอน นายทะเบียนต้องตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของคำขอ และพิจารณาว่าเครื่องหมายนั้นมีลักษณะบ่งเฉพาะหรือแตกต่างจากของผู้อื่นหรือไม่ มีลักษณะต้องห้ามหรือไม่ รวมทั้งตรวจสอบความเหมือน คล้าย กับเครื่องหมายการค้าอื่นๆ ที่จดทะเบียนไว้ก่อนแล้วหรือไม่ หากคำขอไม่สมบูรณ์ก็จะต้องมีการแก้ไข หรืออาจปฏิเสธคำขอดังกล่าวหากเครื่องหมายการค้านั้นเหมือนหรือคล้ายกับของคนอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้ว

พร้อมกันนี้ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอกสามารถร่วมตรวจสอบคัดค้านได้ การดำเนินการจึงใช้เวลาค่อนข้างนาน เป็นเวลาประมาณ 12 เดือน

อย่างไรก็ตาม กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้เริ่มใช้บริการจดเครื่องหมายการค้า Fast Track เมื่อปี พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา โดยจะได้รับแจ้งผลการพิจารณาครั้งแรกภายใน 6 เดือนนับจากวันที่ยื่นคำขอ โดยคำขอที่เข้าเกณฑ์สามารถยื่นแบบ  Fast Track ได้คือ ประเภทคำขอที่ยื่นจดใหม่ และคำขอต่ออายุ

จะเห็นได้ว่าการยื่นจดเครื่องหมายการค้าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่มีแล้วรับรองว่าปลอดภัย ไม่ต้องกลัวการถูกละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย สามารถดำเนินคดีเอาผิดกับผู้ละเมิดได้ แต่หากต้องการที่ปรึกษาที่ช่วยแนะนำเรื่องการยื่นจดเครื่องหมายการค้า เพื่อเตรียมตัวทุกด้านให้พร้อมโดยไม่ต้องไปรอลุ้นหลัง 6 เดือนผ่านไป ลองติดต่อบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการจดเครื่องหมายการค้า เพื่อให้ทุกขั้นตอนของคุณเป็นเรื่องง่ายกว่าที่คิด

 

ความคิดเห็น