ครั้งแรกของประเทศไทยกับ "รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา" โครงการที่จะนำไทยก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ที่ทันสมัยและรวดเร็วทันใจ

เตรียมพบกับครั้งแรกโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา โครงการที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยให้ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ที่ “กลุ่มซีพีและพันธมิตรไทยจีนญี่ปุ่น (CPH)” ชนะการประมูลได้ไปในราคา 149,650 ล้านบาท โดย “อนุทิน” เร่งย้ำกลุ่ม CPH ลงนามในสัญญาหลังจากคว้าชัยมานานเกือบ 1 ปี ใกล้สิ้นสุดวันลงนามสัญญาวันที่ 7 พ.ย.นี้ พร้อมชงไทม์ไลน์ ให้คณะกรรมการคัดเลือกพิจารณากำหนดวันลงนามสัญญาในวันที่ 27 ก.ย.นี้ และลงนามอย่างเป็นทางการในวันที่ 15 ต.ค.2562

 

โครงการรถไฟความเร็วสูง เป็นโครงการที่ภาครัฐได้ร่วมลงทุนกับบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ อย่าง ซีพีและกลุ่มพันธมิตรไทยจีนญี่ปุ่น (CPH) เพื่อลดการใช้งบประมาณของทางภาครัฐและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินโครงการ เนื่องจากโครงการมีความซับซ้อนทางเทคโนโลยีและใช้เงินลงทุนสูง จึงจำเป็นต้องให้ภาคเอกชนที่มีความรู้ขั้นสูงเรื่องรถไฟความเร็วสูงและมีประสิทธิภาพเข้ามาบริหาร และยังเป็นการดึงเอาทรัพยากรทางการเงินของทางภาคเอกชนมาใช้ในการพัฒนาประเทศ โดยเงินลงทุนเบื้องต้นของโครงการนี้คือ  224,544 ล้านบาท ถือเป็น โครงการแรก ใน เฟสแรก ของ ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก (EEC) จากทั้งหมด 5 โครงการ อีก 4 โครงการคือ สนามบินอู่ตะเภา เมืองการบินภาคตะวันออก ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด ถ้ารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินสามารถสร้างเสร็จตามกำหนดภายใน 5 ปี ก็ถือว่า สิ้นสุดแผนอีอีซีระยะที่ 1 อีก 5–10 จะเป็นการพัฒนา เมืองการบิน หรือ มหานครการบิน เป็นระยะต่อไป

โครงการรถไฟความเร็วสูงเป็นปัจจัยความสำคัญในการพัฒนา EEC ในหลาย ๆ ด้าน  ไม่ว่าจะเป็น การเชื่อมโยง 3 สนามบินนานาชาติ ด้วยความเร็ว 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่สามารถเชื่อมสนามบินอู่ตะเภากับกรุงเทพได้ใน 45 นาที และยังเป็นการเปิดการพัฒนาจากกรุงเทพขยายไปสู่ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะขยายเพิ่มไปจนถึงจันทบุรี และตราด ต่อไป โครงการนี้ครอบคลุมเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากสนามบินดอนเมือง-สนามบินอู่ตะเภา โดยแบ่งเป็น 3 ช่วง รวมระยะทางประมาณ 220 กิโลเมตร ซึ่งจะมีการพัฒนาบริเวณสถานีให้เป็นพื้นที่ที่เชื่อมโยงกับชุมชนในละแวกนั้น ๆ และประชาชนสามารถนำรถมาจอดที่สถานีได้ โดยที่สถานีจะมีพื้นที่จอดรถให้บริการ เพื่อที่ประชาชนจะได้ใช้รถไฟความเร็วสูง ในการประประหยัดเวลาการเดินทาง ซึ่งจะยังเป็นการลดความแออัดบนถนนและลดการใช้น้ำมัน

จากการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจ ยังถือเป็นผลตอบแทนที่คุ้มค่า ซึ่งมาจากมูลค่าเพิ่มจากการทำสนามบินอู่ตะเภา มาใช้ประโยชน์โดยตรง โดยยังไม่รวมผลทางอ้อมของการกระจายความเจริญ ลดความแออัดในกรุงเทพฯ รัฐจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น และเมื่อครบ 50 ปี ยังได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากโครงการอีกอย่างน้อย 300,000 ล้านบาทอีกด้วย

ทั้งนี้หาก CPH ไม่ลงนามตามสัญญาภายในเวลาที่กำหนด ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นนั้น นอกจากถูกยึดเงินค้ำค้ำประกัน 2,000 ล้านบาทแล้ว แต่ยังจะถูกขึ้นบัญชีดำ (Blacklist) เพราะกลุ่ม CPH ที่ชนะการประมูลเป็นบริษัทกิจการร่วมค้า ซึ่งเกิดขึ้นจากรวมตัวของหลายบริษัท ทำให้บริษัทร่วมกิจการเหล่านี้หมดสิทธิ์ในการเข้าร่วมประมูลงานกับภาครัฐ ยิ่งไปกว่านั้น ถ้ารัฐบาลมอบหมายให้รายที่ 2 เข้ามาดำเนินโครงการแทน หากมีราคาค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้น กลุ่มCPH ต้องจ่ายส่วนต่างที่เพิ่มขึ้น ทางที่ดีกลุ่มที่ชนะการประมูลควรดำเนินการโครงการต่อไปจะดีที่สุด

 



 

 

ที่มา : Railway Channel TH , ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ความคิดเห็น