กองทุนสื่อ ปลื้มภาคีเครือข่ายภาคเหนือ ร่วมใจสรรค์สร้างสื่อปลอดภัย

โครงการจัดเวทีส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน 5 ภูมิภาค ประจำปี 2565  ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ TMF POWER FOR CHANGE โดยภาคเหนือ จัดขึ้นที่จังหวัดเชียงราย มีภาคีเครือข่าย และผู้สนใจร่วมงานคับคั่ง

นายชัยวัฒน์ จันธิมา บรรณาธิการพะเยาทีวี หนึ่งในผู้ที่ได้รับการสนับสนุนทุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ที่ประสบความสำเร็จและมีเครือข่ายที่แข็งแกร่ง ร่วมแชร์มุมมองว่า พะเยาทีวีเป็นสื่อชุมชน เพื่อการเรียนรู้และพัฒนาท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดพะเยาและเชียงราย เกิดจากเป้าหมายเล็ก ๆ คือ การยกระดับจากคนดูให้เป็นคนทำสื่อ จากคนทำให้เป็นเจ้าของสื่อ จึงเป็นที่มาของโครงการแรกที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุน คือ โครงการออกแบบสื่อชุมชนบนโทรศัพท์มือถือ เพื่อสร้างสรรค์ประเทศไทย 4.0 ที่ส่งเสริมการพัฒนาคนในชุมชนของเราให้มีความสามารถในการผลิตสื่อที่ปลอดภัย โดยทำหน้าที่เป็นสะพานถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชน ทำงานเป็นเครือข่ายของกองทุนสื่อ และมีเครือข่ายในระดับพื้นที่ ส่วนอีกโครงการคือ โครงการขบวนการมดข่าว ซึ่งเป็นการนำเด็กและเยาวชนมาทำข่าวในรูปแบบกองบรรณาธิการ โดยใช้กลไกการมีส่วนร่วมที่ช่วยให้เด็ก เยาวชน และครอบครัว เกิดการรู้เท่าทันสื่อ และเฝ้าระวังสื่ออย่างมีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์กองทุนสื่อทั้งในเรื่องเป้าหมายที่ชัดเจนและการมีเครือข่ายที่แข็งแรง

“เป้าหมายต่อไปของเราคือ ทุนต้องเดินมาหาเรา มาดูงานจากเรา ซึ่งทุนในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเงินทุนเท่านั้น แต่ผมมองว่าทุนทางวัฒนธรรมและทุนที่เป็นองค์ความรู้ มีความสำคัญมาก ๆ ในขณะที่เงินทุนเป็นส่วนสนับสนุนให้เกิดคอนเทนต์ดี ๆ เกิดขึ้น จากความร่วมมือของชุมชน เป็นสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เพื่อการเรียนรู้และพัฒนาท้องถิ่นอย่างแท้จริง” นายชัยวัฒน์ กล่าวเสริม

ขณะที่ เยาวชนไทยนักสร้างสรรค์สื่อมือใหม่ น้องแก้มใส – นางสาววราภรณ์ สิทธิธรรม อายุ 18 ปี ปัจจุบันศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 1 สำนักวิชาการจัดการ สาขาการบัญชี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และ น้องแอมแปร์ – นางสาวชลธิชา คำตุ้ย อายุ 18 ปี ปัจจุบันศึกษาระดับปวส. 1 สาขาบัญชี วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย กับการร่วมกันสร้างสรรค์ โครงการสารคดี “เจียงฮายเดอะซีรีย์” ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อนำเสนอเรื่องราวของจังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็น 1 ในจังหวัดเมืองรองทางภาคเหนือ ที่มีสถานที่ท่องเที่ยวหลากหลาย ทั้งธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ อาหาร การแสดงพื้นเมือง จังหวัดเล็ก ๆ ที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ ความเงียบสงบ และความหลากหลายทางวัฒนธรรม นับเป็น Soft Power ที่มีความน่าสนใจ นำมาร้อยเรียงสารคดีเจียงฮายเดอะซีรีย์ บอกเล่าเรื่องราว จุดเด่น เอกลักษณ์ และความน่าสนใจของ 18 อำเภอในจังหวัดเชียงราย

น้องแก้มใส เล่าว่า การสร้างสารคดีทั้ง 18 ตอน เกิดจากการรวมกลุ่มกันของสมาชิกในทีมจำนวน 5 คน ที่มาจากต่างโรงเรียน ต่างอำเภอ แต่มีความเห็นตรงกันที่อยากจะนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับจังหวัดเชียงรายบ้านเกิดของพวกเราให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น จึงนำความสามารถเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่แต่ละคนมี มาร่วมกันสร้างสรรค์สื่อสารคดีชุดนี้ ซึ่งเมื่อได้ลงมือทำจริง ๆ มันค่อนข้างยากมาก สำหรับพวกเราซึ่งเป็นมือใหม่ในการผลิตสื่อ กว่าจะได้แต่ละตอนต้องศึกษา เก็บรวบรวมข้อมูล ทั้งในรูปแบบการค้นคว้าจากเอกสารวิชาการ จัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับน้อง ๆ เพื่อน ๆ เด็กและเยาวชน รวมถึงขอคำแนะนำ ข้อมูลต่าง ๆ จากกลุ่มผู้นำชุมชน ชาวบ้าน ปราชญ์ชาวบ้านในแต่ละอำเภอ แล้วนำข้อมูลมาตรวจสอบอีกครั้ง โดยอาจารย์ที่ปรึกษาด้านการท่องเที่ยว นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ นักวิชาการอิสระ และปราชญ์ชาวบ้านผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน ไม่บิดเบือน ตรวจสอบได้และตรงกับความต้องการของผู้คนในแต่ละอำเภอจริง ๆ ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการ ซึ่งสามารถติดตามพวกเราได้ที่เพจเฟซบุ๊ก เจียงฮายเดอะซีรีย์

ด้าน น้องแอมแปร์ เล่าเสริมว่า เมื่อได้ข้อมูลที่ต้องการแล้วก็จะเข้าสู่กระบวนการผลิต พวกเราจะแบ่งงานกันตามความสามารถและความถนัดของแต่ละคน เริ่มต้นตั้งแต่การประสานงานกับหน่วยงาน ชุมชนที่เกี่ยวข้อง การทำเอกสารต่าง ๆ การเรียบเรียงเรื่องราวที่น่าสนใจ ลงพื้นที่ดูสถานที่ คัดเลือกและจัดหาบุคคลที่จะมาถ่ายทอดเรื่องราว เสริมแต่งไอเดีย การถ่ายทำ โปรดักชัน พร็อพตกแต่ง การตัดต่อ ควบคุมงบประมาณ การจัดทำบัญชีค่าใช้จ่าย และต้องไม่ลืมเช็คความถูกต้องทุก ๆ กระบวนการ เพื่อลดการสื่อสารที่ผิดพลาดและปัญหาอื่น ๆ ที่อาจจะตามมา

“การดำเนินโครงการทั้งหมดต้องใช้ทุนในการสร้างสรรค์ค่อนข้างสูง แต่พวกเราโชคดีมากที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ทำให้ความฝันในการสร้างสื่อดี ๆ เพื่อบ้านเกิดของพวกเราเองเป็นจริง ขอขอบคุณกองทุนสื่อมาก ๆ ที่ให้โอกาสเด็กรุ่นใหม่ พวกเราจะตั้งใจทำโครงการนี้อย่างเต็มความสามารถ และเมื่อสื่อชุดนี้เผยแพร่ออกไป พวกเราคาดหวังว่าจะทำให้ผู้คนที่ได้ชมเกิดความประทับใจและหลงรักเชียงราย เมืองเล็ก ๆ ที่เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์…ชาวเชียงรายรอต้อนรับทุก ๆ คนค่ะ” น้องแก้มใส และ น้องแอมแปร์ กล่าว

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น เป้าหมายเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งร่วมเป็นผู้มีทักษะการรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและดิจิทัล สามารถคิด วิเคราะห์และแยกแยะได้ ร่วมเป็นเครือข่ายสร้างนิเวศสื่อที่ดี เป็นสื่อที่มีความปลอดภัยและสร้างสรรค์
มีช่องทางการสื่อสาร แลกเปลี่ยนข้อมูล รวมทั้งสามารถตรวจสอบข่าวปลอม (Fake News) ได้ตลอดเวลา รวมถึงเป็นเครือข่ายทั้งผู้ผลิตและเผยแพร่สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

“การสร้างผลงานสื่อสร้างสรรค์จาก Soft Power ในชุมชนของตัวเองจากต้นทุนทางวัฒนธรรมและบอกเล่าผ่านสื่อที่ทุกคนสามารถทำได้ในสื่อสังคมออนไลน์ นอกจากเกิดความภาคภูมิใจให้กับตัวเอง และชุมชนพื้นถิ่นที่อยู่อาศัยแล้ว ยังสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อีกด้วย”

ความคิดเห็น