เมื่อรัฐสนับสนุน EMV และลดบทบาทของบัตรแมงมุมลง เพื่อก้าวให้ทันเทคโนโลยีโลก

 

เมื่อกระทรวงคมนาคมเห็นชอบ จะอัพเกรดบัตรแมงมุม ให้เป็นมากกว่าบัตรที่ใช้กับระบบขนส่งสาธารณะ โดยการยกระดับให้เป็นบัตรเครดิตที่ใช้ระบบ EMV นอกจากจะขึ้นระบบขนส่งสาธารณะได้แล้ว ยังใช้ซื้อของตามห้างสรรพสินค้าได้อีกด้วย ซึ่งระบบ EMV เป็นระบบสากลที่จะทำให้การใช้บัตรเครดิตปลอดภัย ทันสมัยและสะดวกฉับไวมากยิ่งขึ้น

 

แต่ก่อนที่จะมาทำความเข้าใจกับระบบ EMV เรามาทำความรู้จักกับบัตรแมงมุมกันก่อน บัตรแมงมุม เป็นระบบตั๋วร่วมของไทย คือ แค่มีบัตรแมงมุมใบเดียว ก็สามารถใช้ได้กับระบบขนส่งสาธารณะทุกประเภท ตั้งแต่ รถไฟฟ้า BTS, MRT, Airport Rail Link, รถเมล์ ขสมก., เรือด่วนเจ้าพระยา และทางด่วนของกรมทางหลวง ข้อดี คือ ไม่ต้องพกบัตรหลายใบ แค่บัตรใบเดียวแต่เดินทางไปได้ทุกที่ที่ต้องการ แถมยังใช้ซื้อของในร้านค้าที่ร่วมรายการได้อีกด้วย

 

ส่วนระบบของบัตรแมงมุม คือการเติมเงินเข้าไปในบัตร โดยเติมได้สูงสุด 10,000 บาท แต่ดูเหมือนว่า บัตรแมงมุมนี้ยังไม่สามารถใช้งานได้อย่างสมบูรณ์ บวกกับรัฐพยายามจะอัปเกรดบัตรแมงมุมเดิมให้กลายเป็นบัตรเครดิต EMV ดังนั้น ระบบขนส่งต่างๆ ยังต้องการเวลาในการออกแบบซอฟต์แวร์และปรับปรุงเครื่องอ่านบัตรให้เข้ากับระบบใหม่ ซึ่งมีหลายปัจจัยที่ทำให้ดำเนินการล่าช้า ไม่ว่าจะเป็นเงินลงทุน หรือการทำสัญญา รวมไปถึงการหารือที่ต้องใช้เวลาในการวางแผนอย่างละเอียดถี่ถ้วน

 

บัตรแมงมุมมีทั้งหมด 3 ประเภท ได้แก่

– บัตรสีน้ำเงิน สำหรับบุคคลทั่วไป

– บัตรสีเทา สำหรับนักเรียน/นักศึกษา

– บัตรสีทอง สำหรับผู้สูงอายุ

 

 

เมื่อเรารู้แล้วว่าบัตรแมงมุม คืออะไร ใช้งานอย่างไร ทีนี้เรามารู้จักระบบ EMV กันบ้าง ว่าทำไมรัฐถึงอยากยกระดับบัตรแมงมุมนี้ให้ทันสมัยกว่าเดิม เราน่าจะเคยได้ยินคำว่า ชิปการ์ด กันมาบ้าง หรือบางคนอาจจะเรียกว่า Smart Card หรือ EMV (Europay, MasterCard,Visa) หากลองหยิบบัตร ATM, Debit Card หรือ Credit Card ที่อยู่ในกระเป๋าเงินของเราออกมาดู จะเห็นชิปการ์ดขนาดเล็กที่บรรจุข้อมูลของผู้ใช้งานอยู่

 

ซึ่งบัตร ATM, Debit Card หรือ Credit Card ใช้เทคโนโลยีมาตรฐาน EMV ย่อมาจากอักษรตัวหน้าของ 3 บริษัทที่ร่วมกันสร้างมาตรฐาน EMV ขึ้นมาอย่าง Europay, MasterCard และ Visa ปัจจุบันนอกเหนือจาก Visa และ MasterCard ยังมีเครือข่ายอื่นๆ เข้าร่วมด้วย เช่น American Express, China Union Pay, JCB และ Discover/Diners Club International

 

เนื่องจากประเทศไทยมีผู้ถือบัตรเครดิตในระบบ EMV มากถึง 70 ล้านใบ แบ่งเป็นบัตรเดบิต 50 ล้านใบและบัตรเครดิต 20 ล้านใบ ในอนาคตเพียงแค่นำบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตไปแตะหรือรูดเพื่อจ่ายค่าเดินทางในระบบขนส่งสาธารณะ ก็สามารถทำได้โดยติดต่อไปยังธนาคารเจ้าของบัตรว่าต้องการใช้บัตรร่วมกับบริการขนส่งสาธารณะ

 

ข้อดีของบัตร EMV คือ เพิ่มความปลอดภัยและลดความเสี่ยงให้กับผู้ใช้และผู้รับ ซึ่งบัตรแบบชิป คือ บัตรที่มีคอมพิวเตอร์ชิปฝังอยู่ บางบัตรจะให้ผู้ใช้ใส่พินหรือไม่ก็เซ็นผ่านเครื่องรับบัตร ทั้งยังลดต้นทุนผู้ประกอบการระบบขนส่งสาธารณะถึง 40% ซึ่งเยอะกว่าทำบัตรแมงมุม เพราะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการขายบัตรแมงมุม และผู้ใช้บริการก็ไม่ต้องเสียเงินซื้อบัตรแมงมุมเช่นกัน เพราะจะมีบัตรเครดิตชำระเงินผ่านระบบดิจิทัลแทน

 

แต่ว่าบัตรแมงมุมก็ยังคงผลิตออกมา เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการคนอื่นๆ รวมไปถึงขายบัตรตามสถานียังมีให้บริการสำหรับผู้ใช้บริการที่ชอบพกเงินสดติดตัว

 

สรุปแล้ว คือ บัตรระบบ EMV ไม่จำเป็นต้องซื้อบัตรแมงมุม เพียงแต่ว่าหากใครมีบัตรเครดิต บัตรเดบิตหรือบัตรวีซ่าอยู่แล้ว สามารถติดต่อไปยังธนาคารเจ้าของบัตรได้ว่าต้องการใช้ร่วมกับระบบบริการขนส่งสาธารณะ หากทำเรื่องเรียบร้อยแล้ว สามารถนำบัตรนั้นไปใช้แตะหรือรูดบัตรจ่ายค่าเดินทางในระบบขนส่งสาธารณะได้ทันที

 

ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมได้เลื่อนการเปิดให้บริการตั๋วร่วมออกไปเป็นเดือนตุลาคม 2561 จากเป้าหมายเดิมคือ รถโดยสารประจำทาง ขสมก. จะเปิดให้บริการทั้งหมด 2,600 คัน ในเดือน มิถุนายม 2561, รถไฟฟ้า Airport Rail Link เปิดให้บริการเดือนสิงหาคม 2561, รถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 3 สายเปิดให้บริการเดือนพฤศจิกายน 2561 และจะเปิดให้ใช้ระบบ EMV ได้สมบูรณ์ทุกโครงการในเดือนธันวาคม 2562

 

 

ที่มา : www.thaipost.net

www.money.kapook.com

www.sereechai.com

 

 

 



 

 

ความคิดเห็น