ผู้นำแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ร่วมเสวนาหลักสูตร The NEXT Real ชี้แนะการฝ่าวิกฤตอสังหาปี 63 คุมโอเวอร์เฮดไม่เกิน 15%

โฮมบายเออร์ไกด์ แถลงข่าวเปิด รุ่นที่ 9 และ 10 ภายใต้คอนเซปต์ The NEXT Real: Experience Sharing And Real Estate Ecosystem เชิญผู้ประกอบการและนักธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์มาร่วมเสวนาในหัวข้อกลยุทธ์รับมืออสังหาฯ ขาลง ปี 2563 ในหัวข้อ “อสังหาริมทรัพย์ปี 2563 Perfect Storm จริงหรือ?”

 

นายอนันต์ อัศวโภคิน ผู้ก่อตั้งหลักสูตร The NEXT Real และเจ้าของบริษัทแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH เปิดเผยว่า สถานการณ์ตอนนี้ยังไม่ถึงกับเลวร้าย หลายตลาดโอเวอร์ซัพพลาย ตลาดบนจะสโลว์ดาวน์ ตลาดกลาง-ล่างยังพอไปได้ ขณะที่คอนโดมิเนียมยังไม่ค่อยดีเท่าไร  แต่อย่างไรก็ตามยังมีตัวช่วยที่สามารถบรรเทาสถานการณ์นี้ได้ 1.อัตราดอกเบี้ยต่ำมาก ทำให้ลูกค้าสามารถซื้อคอนโดฯหรือบ้านในอัตรา 3% ในช่วง 3 ปีแรก 2.ตัวช่วยจากมาตรการรัฐทั้งการลดค่าโอน-จำนอง 3% เหลือ 0.01% และบ้านดีมีดาวน์ 3.ราคาที่ดินเริ่มสโลว์ดาวน์ ซึ่งเชื่อว่าราคาทรงตัวหรืออาจจะลดลง

ด้านผลกระทบที่มีต่อวงการอสังหาริมทรัพย์ หากมองจากตัวเลขหนี้ครัวเรือนไทยยังสูงมาก แต่ขณะเดียวกันที่อยู่อาศัยยังเป็นตลาดที่มีคนต้องการอยู่ ถ้าหากเดเวลอปเปอร์เข้าตลาดที่ถูกต้องก็ยังขายได้  “ช่วงนี้ถ้าผู้ซื้อมีความต้องการจะซื้อ จะเป็นไทม์มิ่งที่ค่อนข้างจะดี ที่สามารถเลือกซื้อบ้านหรือคอนโดฯ ในราคาที่ไม่แพง พอตลาดเริ่มโอเวอร์ซัพพลายทุกคนก็จัดกิจกรรมลดราคา แจกแถมเป็นเรื่องปกติ ตอนนี้แทบจะไม่มีโครงการใหม่ คาดว่าอีก 2 ปีตลาดจะดีขึ้น”

ทั้งนี้ ตลาดมีภาวะหนี้เสียเยอะ แบงก์จึงเข้มงวดการปล่อยกู้พรีไฟแนนซ์ทั้งดีเวลอปเปอร์รายใหม่และรายเก่า โดยเฉพาะโครงการคอนโดฯ ไม่ควรฝืนตลาด แต่ควรหันมาปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการภายในองค์กรให้ลงตัว จุดโฟกัสอยู่ที่ทำยังไงรายจ่ายประจำไม่ให้เกิดโอเวอร์เฮด

“บริษัททั่วไปโอเวอร์เฮดไม่ควรจะเกิน 15% ตอนนี้ถ้ามีเวลา ธุรกิจที่เริ่มไม่ค่อยดี สโลว์ดาวน์ ควรหันมาปรับปรุงประสิทธิภาพภายใน โอเวอร์เฮด ค่าใช้จ่ายพวกค่าโฆษณา เงินเดือนต่าง ๆ ถ้าเกิน 15% ให้ พยายามลดค่าใช้จ่าย เพราะว่าการลดค่าใช้จ่ายมีผลมากถ้าสามารถลดรายจ่ายได้ก็ลดยอดขายได้ ซึ่งทำให้บรรทัดสุดท้ายกำไรไม่ตกเท่าไหร่”

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นยังรวมถึงภาวะ dilemma หนีเสือปะจระเข้ ดีเวลอปเปอร์ที่มีปัญหาควรปรึกษารือกับแบงก์โดยตรง เพื่อหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน เพื่อป้องกันการเกิดหนี้เสีย “สภาพคล่องในระบบสถาบันการเงินเหลือเยอะมากจนกลายเป็นอย่างนี้ไปแล้ว กลายเป็นว่าเราอยู่ในไดเล็มมาที่แบงก์มีเงินเยอะ แต่ไม่กล้าปล่อยกู้ เศรษฐกิจดูไม่ดีแต่ดอกเบี้ยต่ำ ดูแล้วมันน่ากลัว”

นายอนันต์กล่าวต่อว่า จุดน่ากลัวอีกจุดหนึ่งก็คือจะมีทางออกกันยังไง ในเมื่อตลาดไม่ดีเลย ปัจจัยทุกอย่างเป็นบวกหมดอยู่แต่ตลาดก็ยังไม่ดี ทั้งที่ดอกเบี้ยก็ต่ำ สภาพคล่องเยอะ รัฐบาลให้การช่วยเหลือเยอะ แต่ตลาดก็ยังไม่ดีอยู่

 

 

 

วันที่ 8 มกราคม 2563

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ


ความคิดเห็น