เปิดอาณาจักร 'King Power' ขุมทรัพย์แสนล้าน ของเจ้าสัว 'วิชัย ศรีวัฒนประภา'

วันเสาร์ที่ 27 ตุลาคม 2561 ตามเวลาในประเทศอังกฤษ ได้เกิดเหตุการณ์ช็อควงการธุรกิจในประเทศไทย รวมถึงวงการฟุตบอลระดับโลก เมื่อ นายวิชัย ศรีวัฒนประภา ประธานกรรมการกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ (KING POWER) และประธานสโมสรฟุตบอล เลสเตอร์ซิตี้ (Leicester City) ประสบอุบัติเหตุถึงแก่ชีวิต จากเฮลิคอปเตอร์ส่วนตัวตก บริเวณนอกสนามคิง เพาเวอร์ สเตเดี้ยมในเมืองเลสเตอร์ ซิตี้


 

 

นายวิชัย ศรีวัฒนประภา หรือ เจ้าสัววิชัย เป็นหนึ่งในมหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของเมืองไทย ซึ่งได้รับการจัดอันดับจาก Forbes นิตยสารธุรกิจและการเงินชื่อดังของสหรัฐ ให้เป็นมหาเศรษฐีไทยอันดับที่ 5 ของปี 2561 ที่มีมูลค่าสินทรัพย์ 4.9 พันล้านเหรียญ หรือราว 1.62 แสนล้านบาท

ปัจจุบัน เจ้าสัววิชัย เป็นประธานกรรมการ กลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ และมีสถานะทางสังคมเป็น นายกสมาคมขี่ม้าโปโลแห่งประเทศไทย และประธานสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ โดยเข้าไปซื้อกิจการในปี พ.ศ. 2553 ด้วยมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดอยู่ที่ราว 40 ล้านปอนด์ และในปี พ.ศ. 2554 ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานสโมสรอย่างเต็มตัว การจากไปในวัย 60 ปีของเจ้าสัววิชัย จึงถือเป็นการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ของครอบครัวศรีวัฒนประภา ครอบครัวคิง เพาเวอร์ ครอบครัวเลสเตอร์ ซิตี้ โลกฟุตบอล และวงการนักธุรกิจ ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น

 

ประวัติ เจ้าสัววิชัย

เกิดวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2501 เป็นบุตรของนายวิวัฒน์ รักศรีอักษร (ชื่อเดิม: ซื้อ หลี่เม้ง) กับนางประภาศร รักศรีอักษร แต่เดิมใช้นามสกุล “รักศรีอักษร” แต่ต่อมา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อสกุล “ศรีวัฒนประภา” ให้เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 55 เพื่อเป็นสิริมงคลแก่วงศ์ตระกูล

เจ้าสัววิชัย จบการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมศึกษาวูดลอว์น สหรัฐอเมริกา และศิลปศาสตรบัณฑิต สาขารัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยนอร์ททอร์ป สหรัฐอเมริกา

ชีวิตครอบครัว ได้สมรสกับนางเอมอร มีบุตรทั้งหมด 4 คน นางสาววรมาศ ศรีวัฒนประภา, นายอภิเชษฐ์ ศรีวัฒนประภา, นางสาวอรุณรุ่ง ศรีวัฒนประภา และ นายอัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ซึ่งทำหน้าที่เป็นรองประธานสโมสร เลสเตอร์ ซิตี้ และมีส่วนช่วยในการบริหารทีมฟุตบอลจนก้าวสู่ตำแหน่งแชมป์พรีเมียร์ลีก เมื่อปี 2015–2016

 

อาณาจักร “KING POWER”

อาณาจักรสินค้าปลอดภาษีระดับแสนล้าน ของคิง พาวเวอร์ เริ่มต้นครั้งแรกเมื่อปี 2532 จากการเปิดกิจการในฮ่องกง ก่อนจะกลับมาทำธุรกิจในไทยภายใต้ชื่อบริษัท ดาวน์ทาวน์ ดี.เอฟ.เอส. (ไทยแลนด์) จำกัด ด้วยไอเดียจากการที่มักเห็นคนไทยนิยมซื้อสินค้าปลอดภาษีเวลามาท่องเที่ยว ในปี 2533 ก็ได้จดทะเบียนในนามบริษัท คิง เพาเวอร์ แท็กซ์ฟรี จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท และได้รับโอกาสขยายอาณาจักรออกไปมากมาย

จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ปัจจุบันคิง เพาเวอร์ มีการจดและดำเนินการอยู่ทั้งสิ้น 11 บริษัท ได้แก่

1. บริษัท คิง เพาเวอร์ แท็กซ์ฟรี จำกัด (จดทะเบียน 2533): จำหน่ายสินค้าปลอดภาษี

2. บริษัท คิง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (จดทะเบียน 2538): ร้านค้าขายปลีกและร้านค้าปลอดภาษีอากรบริการจัดการ

3. บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด (จดทะเบียน 2539): จำหน่ายสินค้าปลอดอากรให้บริการจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานนานาชาติ

4. บริษัท คิง เพาเวอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (จดทะเบียน 2540): ให้บริการจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

5. บริษัท คิง เพาเวอร์ มาเก็ตติ้ง แอนด์ เมเนจเมนท์ จำกัด (จดทะเบียน 2541): ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรบนเครื่องบิน โดยสารระหว่างประเทศ

6. บริษัท คิง เพาเวอร์ คลิก จำกัด (จดทะเบียน 2542): ตัวแทนขายสินค้าทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

7. บริษัท คิง เพาเวอร์ โฮเทล แอนด์ เมเนจเมนท์ จำกัด (จดทะเบียน 2547): โรงแรมและภัตตาคาร

8. บริษัท คิง เพาเวอร์ เอนเตอร์เทนเมนท์ จำกัด (จดทะเบียน 2548): ให้บริการด้านการบริหาร และการจัดการด้านต่างๆ

9. บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด (จดทะเบียน 2548): บริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์

10. บริษัท คิง เพาเวอร์ เอวิเอชั่น จำกัด (จดทะเบียน 2557): ประกอบกิจการขนส่งคนโดยสาร ไปรษณีย์ สิ่งของและพัสดุภัณฑ์ทางอากาศ

11. บริษัท คิง เพาเวอร์ มหานคร จำกัด (จดทะเบียน 2557): ประกอบกิจการค้า จัดสรร ปลูก สร้าง จำนอง โอน ขายฝาก ให้แลกเปลี่ยน เช่า ให้เช่า บริหารอสังหาริมทรัพย์

ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 28 ตุลาคมพบว่า เขามีมูลค่าทรัพย์สินในครอบครองรวมกว่า 4,900 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 162,600 ล้านบาท

 

หลงไหลในกีฬาฟุตบอล จนได้ก้าวมานั่งแท่นประธานสโมสร เลสเตอร์ ซิตี้

สโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ ซิตี้ (Leicester City) เป็นทีมฟุตบอลเล็กๆอายุา 100 กว่าปี ฝีมือระดับกลางๆ ค่อนทางข้างล่าง จากเมืองเลสเตอร์ ย่านอีสต์มิดแลนด์ของอังกฤษ ซึ่งได้เข้ามาติดต่อขอทุนสนับสนุนกับทางคุณวิชัย ด้วยความชื่นชอบกีฬาฟุตบอลโดยส่วนตัวของเจ้าสัววิชัย ในปี พ.ศ. 2553 จึงได้ทำการลงทุนซื้อหุ้น โดยถือครองในช่วงแรกอยู่ที่ 51% ก่อนที่ในปีเดียวกันจะตัดสินใจเข้าถือหุ้นเพิ่มเป็น 100% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 40 ล้านปอนด์ และได้ตำแหน่งเป็นประธานสโมสรในปี 2554 โดยมีลูกชายเป็นรองประธาน ในครั้งแรกที่เข้ามาก็ถูกสื่อครหาและปรามาสว่าเป็นแค่นักธุรกิจที่ไม่จริงจังกับฟุตบอล มองทุกอย่างเป็นเงิน และทุกอย่างก็คงเกิดขึ้นประเดี๋ยวประด๋าว ไม่ช้าหรือเร็วก็อาจต้องลาจากกันไปเหมือนนายทุนรายอื่นๆ

แต่เจ้าสัวก็พิสูจน์แล้วว่ากีฬาฟุตบอลคือสิ่งที่รักและหลงใหลจริงๆ ด้วยความปรารถนาอันแรงกล้าที่ผมอยากจะพาสโมสรฟุตบอลแห่งนี้กลับขึ้นสู่พรีเมียร์ลีกให้ได้ ด้วยความตั้งใจจริงจังเขาใช้เวลาเพียง 3 ปี ส่งทีมไปคว้าแชมป์ลีกฟุตบอลแชมเปี้ยนชิป และได้ก้าวไปจนสามารถคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก (ปี 2016) เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ตั้งแต่ก่อตั้งทีม

 

ความเคลื่อนไหวล่าสุดปี 2018

ทุ่ม 14,000 ล้านบาท ซื้อกิจการของ เพซ ดีเวลลอปเมนท์ เสริมศักยภาพธุรกิจ เปลี่ยนชื่อตึกมหานคร  ให้เป็น “คิง เพาเวอร์ มหานคร” (King Power Mahanakhon)

ตึกมหานคร เป็นโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ มูลค่าโครงการ 18,000 ล้านบาท บนที่ดิน 9 ไร่ ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ติดสถานีรถไฟฟ้าช่องนนทรี ซึ่งจัดตั้งขึ้นมาโดยการดำเนินการและร่วมทุนซึ่งนำโดยกลุ่มบริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PACE เป็นโครงการระดับ Luxury ประกอบด้วยโรงแรม รีเทล และคอนโดมิเนียม ที่ใช้เวลาปลุกปั้นมาเป็นเวลา 7-8 ปี จนได้เปิดตัวไปอย่างยิ่งใหญ่ พร้อมแสงสีเสียง และขึ้นชื่อว่าเป็นตึกที่สูงที่สุดในประเทศไทยเมื่อปี 2559 ซึ่งในปี 2560 ได้เกิดเหตุติดขัดจากปัญหาหนี้ที่มีอยู่เกือบ 10,000 ล้านบาท กับธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) จนเกือบได้ดีลยักษ์กับทาง Sansiri แต่ก็ต้องล่มไปด้วยความไม่พร้อมต่างๆ แต่ต่อมาปี 2561 ก็ได้เกิดดีลใหญ่แห่งปี  เมื่อกลุ่มคิง เพาเวอร์ ​เข้าซื้อทรัพย์สินในตึกมหานคร ได้แก่ โรงแรม, จุดชมวิว Observation Deck, ร้านค้าปลีกบริเวณพื้นที่รีเทล 4 ชั้น, อาคารรีเทลมหานคร คิวป์, รวมถึงที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ร่วม ซึ่งการตัดสินใจลงทุนในครั้งนี้ถือเป็นการต่อยอดธุรกิจ เนื่องจากทรัพย์สินต่างๆ ที่ซื้อมานั้นเป็นทรัพย์สินที่สอดคล้องกับธุรกิจที่กลุ่มคิง เพาเวอร์ ได้ดำเนินการอยู่  ด้วยมูลค่าการซื้อขายถึง 14,000 ล้านบาท

โดยรายละเอียดของทรัพย์สินต่างๆ ที่ขายให้กลุ่มคิง เพาเวอร์จะประกอบไปด้วย ที่ดิน โรงแรม อาคารจุดชมวิว อาคารรีเทลคิวบ์ ประติมากรรม ภาพวาด ใบอนุญาตต่างๆ รวมถึงสัญญาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการประกอบธุรกิจโรงแรม อาคารจุดชมวิวและอาคารรีเทลคิวบ์ กลุ่มคิง เพาเวอร์ ได้เปลี่ยนชื่อตึกมหานคร  เป็น คิง เพาเวอร์​ มหานคร  เพื่อความชัดเจนในความเป็นเจ้าของ ไปจนถึงสร้างแบรนด์ โดยเป้าหมายของ King Power ก็คือ การดึงเอาศักยภาพกับความเชี่ยวชาญในการบริหารรีเทลของตัวเองมาใช้

การสูญเสียของคุณวิชัย ศรีวัฒนประภา นับว่าเป็นการสูญเสียบุคคลสำคัญคนหนึ่งของประเทศไทย ที่คงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่สิ่งที่เจ้าสัววิชัยได้สร้างเอาไว้มากมาย รวมถึงคุณประโยชน์ต่างๆที่เจ้าสัวมอบเอาไว้ ก็คงจะสามารถเป็นแบบอย่าง ให้ทุกคนได้เรียนรู้และปรับใช้ให้เป็นคุณค่า สร้างประโยชน์ต่อไปในชีวิตประจำวันได้เสมอ

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : sanookthestandardbrandbuffet

ความคิดเห็น