จุฬาฯ พลิกโฉมสยามสแควร์ ก้าวสู่…"เมืองนวัตกรรมแห่งสยาม"

ภาพจำของผู้คนต่อสยามสแควร์ คือ แหล่งช็อปปิ้งขนาดใหญ่ของกรุงเทพมหานคร เพราะเต็มไปด้วยห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า และร้านค้าขนาดใหญ่น้อยจำนวนมาก โดยพื้นที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


 

แต่ตอนนี้ จุฬาฯกำลังจะพลิกภาพของย่านสยามสแควร์สู่แหล่งอุดมปัญญา ผ่านโครงการ “เมืองนวัตกรรมแห่งสยาม” หรือ “Siam Innovation District (SID)” เป็นการต่อยอดจากโครงการศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Innovation Hub) ด้วยความต้องการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมสู่นอกรั้วมหาวิทยาลัย

 

“ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์” อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการเล็งเห็นพื้นที่สยามซึ่งมีทราฟฟิกเยอะถึง 1.2 แสนคนต่อวัน จึงอยากสร้าง ecosystem ด้านนวัตกรรม เพื่อจุดประกายให้คนมีแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ แทนที่จะให้สยามเป็นเพียงแหล่งเรียนพิเศษ หรือช็อปปิ้งอย่างเดียว

 

จุฬาฯจึงทุ่มงบประมาณ 20 ล้านบาท สร้างอาคารสำนักงาน SID ภายในอาคารสยามสแควร์วัน โดยมีทั้งหมด 4 ชั้น จะเป็นสถานที่จัดเวิร์กช็อป การบรรยาย กิจกรรม นิทรรศการ และที่จัดแสดงตัวอย่างนวัตกรรมฝีมือคนไทย รวมถึงมีฐานข้อมูลด้านนวัตกรรม และ coworking space สำหรับผู้มาใช้บริการ

 

การสร้าง SID ของจุฬาฯ ถือว่าเป็นการลงทุนครั้งสำคัญ เพราะพื้นที่ตั้งของสำนักงาน SID เดิม โตโยต้าเช่าอยู่ ซึ่งเมื่อหมดสัญญาเช่าแล้ว จุฬาฯคงไม่ได้ปล่อยให้ผู้ประกอบการรายอื่นมาเช่าต่อทั้ง ๆ ที่เป็นพื้นที่ทำเลทอง และสามารถสร้างรายได้หลักล้านบาทต่อเดือน เพราะสำนักงาน SID มีพื้นที่ 1,000 ตารางเมตร หากปล่อยให้เช่าจะมีราคาเช่าอยู่ที่ 2,000 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน

 

ทั้งนั้น ในส่วนแผนการดำเนินงานของ SID จะมี 4 แนวทาง ได้แก่

1) ชุมชนนวัตกรรมแห่งอนาคต(futurium) ประกอบด้วย การพัฒนาพื้นที่ให้เป็นเมืองอัจฉริยะต้นแบบ มีการจัดนิทรรศการหมุนเวียนแสดงนวัตกรรมล้ำสมัย และนิทรรศการถาวรด้านนวัตกรรม

2) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (talent building) ผ่านกิจกรรมหลากหลาย เช่น การบรรยาย การอบรมเชิงปฏิบัติการ การประกวดแข่งขันและการต่อยอด การประชุมสัมมนา การสร้างเครือข่ายผู้ให้คำปรึกษา และโครงการบ่มเพาะและขยายผลทางธุรกิจ

3) การเชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรม (industry liaison) โดย SID จะเป็นสะพานเชื่อมระหว่างสถาบันการศึกษากับภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้นวัตกรรมที่เกิดขึ้นตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง และช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมสนับสนุนสถาบันการศึกษาได้อย่างตรงจุดยิ่งขึ้น

4) ตลาดนัดนวัตกรรม (marketplace) สยามสแควร์จะกลายเป็นตลาดนัดนวัตกรรม และเป็นจุดนัดพบของคนที่มีความสามารถในการคิด (idea) กับคนที่มีความสามารถในการทำ (I do) สิ่งที่จะเกิดขึ้น ได้แก่ การลงทุน และการสร้างหุ้นส่วนในนวัตกรรม การสร้างเครือข่ายความร่วมมือ และการจับคู่ผู้มีความสามารถ

 

จากความมุ่งมั่นในการสร้างเมืองนวัตกรรม จุฬาฯจึงผุดโครงการส่งเสริมนวัตกรรมแห่งสยาม (100 SID) ซึ่งให้ทุนสำหรับพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมที่มีศักยภาพ และมีผลกระทบต่อสังคมไทย เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจสตาร์ตอัพของไทยพัฒนาขีดความสามารถ และสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการให้เติบโตได้อย่างมั่นคง

 

โดยแบ่งออกเป็นทุนเพื่อสนับสนุนการเพิ่มศักยภาพในการเติบโตของธุรกิจใหม่ (scale up fund) ทุนละ 5 ล้านบาท จำนวน 15 ทุน และทุนเพื่อสนับสนุนการจัดตั้งธุรกิจเกิดใหม่ (seed fund) ทุนละ 1 ล้านบาท จำนวน 25 ทุน รวมทุนทั้งสองประเภทเป็นเงิน 100 ล้านบาท สำหรับ 40 นวัตกรรมที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย

 

รูปแบบการทำงานของเมืองนวัตกรรม คือ PPP โดยทำงานร่วมกับภาครัฐและเอกชน ซึ่งภาครัฐให้เงินสนับสนุนมาแล้ว 200 ล้านบาท ขณะเดียวกันมีสปอนเซอร์จากภาคเอกชนแล้ว 3 แห่ง คือ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ, การไฟฟ้านครหลวง และบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) ในการให้เงินลงทุน โดยมีกรอบความร่วมมือ 5 ปี

 

สำหรับการทำงานด้านนวัตกรรมจะโฟกัสใน 5 ด้าน คือ การส่งเสริมคุณภาพชีวิต (lifestyle), ความยั่งยืนทางทรัพยากรอาหาร พลังงาน และน้ำ (sustainable development), การสร้างสรรค์สังคมและเมืองอัจฉริยะ (inclusive community & smart city), การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและวิศวกรรมหุ่นยนต์ (digital economy & robotics) และนวัตกรรมเพื่อการศึกษา (innovative education)

 

 

“คนที่มีแพสชั่น และมีแนวคิดในการสร้างนวัตกรรม เมื่อเข้ามาใน SID เราจะมีคนช่วยไกด์ และเทรนให้ โดยมีอาจารย์ทั้งคนไทย และต่างชาติมาเป็นโค้ช ซึ่งตอนนี้เราทำความร่วมมือแล้วกับ MIT และ Stanford University หลังจากที่เขาพัฒนาโปรเจ็กต์แล้ว และอยากขายแนวคิด ก็สามารถทำได้เลย เหมือนทุกอย่างเบ็ดเสร็จอยู่ที่นี่ที่เดียว”

 

นอกจากการปรับพื้นที่สยามสแควร์ “ศ.ดร.บัณฑิต” บอกว่า จุฬาฯมีแผนจะขยายแนวคิดเมืองนวัตกรรมไปยังพื้นที่สวนหลวง-สามย่าน ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีบริษัทด้านเทคโนโลยีและฟินเทคตั้งอยู่แล้ว โดยจุฬาฯจะเข้าไปตั้ง research center เพิ่มเติม

 

“เป็นการเชื่อมร้อยพื้นที่ตั้งแต่สยามสแควร์ซึ่งมี SID เรื่อยไปจนถึงโซนเอ็มบีเคที่เรามี innovation hub ตั้งอยู่ที่อาคารจามจุรี 10 แล้วไปสิ้นสุดตรงแถวสวนหลวง-สามย่าน โดยมี research center ตั้งอยู่”

 

เพื่อให้สมกับการเป็น “เมืองนวัตกรรมแห่งสยาม” ที่ไม่ได้เป็นเพียงเมืองนวัตกรรมแห่งย่าน “สยามสแควร์” แต่ยังหมายรวมถึงการเป็นเมืองนวัตกรรมของ “ประเทศไทย” อีกด้วย

 

ที่มา: prachachat

ความคิดเห็น