กลุ่มอสังหาฯ ปรับตัวหนักเอาตัวรอดในวิกฤต COVID-19

ในสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัส Covid-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว ล่าสุดด้านกลุ่มอสังหาฯเองก็ได้รับผลกระทบไปเต็มๆ เช่นกัน ทำให้การซื้อขายอสังหาฯอาจลดลงบางส่วน แม้แต่มหกรรมที่อยู่อาศัยที่มักจัดขึ้นในช่วงกลางเดือนมีนาคมของทุกปีก็ยังเลื่อนออกไป ในส่วนของธุรกิจโรงแรมเองก็ได้รับผลกระทบโดยตรงจากนักท่องเที่ยวเช่นกัน กลุ่มอสังหาล้วนเร่งปรับตัวเพื่อเอาตัวรอดในสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้

 

โรงแรม (Hotels) กลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบหนักสุดในกลุ่มอสังหาฯ ที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องมาจากธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งบางที่ทนรับสถานการณ์นี้ไม่ไหวจึงต้องหยุดกิจการชั่วคราวแล้วค่อยกลับมาเปิดบริการใหม่หลังจากสถานการณ์ดีขึ้น โดยบางโรงแรมก็ปรับเป็นร้านขายอาหาร delivery เพื่อให้ตอบรับกับดีมานด์ที่เปลี่ยนไปอย่างกะทันหันและทดแทนรายได้หายไปจากวิกฤตนี้ ซึ่งนอกจากนี้ในบางโรงแรมก็ได้ประกาศอนุญาตให้รัฐบาลสามารถใช้โรงแรมดัดแปลงเป็นโรงพยาบาลสนามชั่วคราวเพื่อเป็นสถานที่กักกันโรคและรองรับผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย โดยตอนนี้โรงแรม The Idle Residence ก็ได้มีการปรับธุรกิจ เปิดบริการให้เช่ากักตัว 14 วัน อาหารพร้อม แถม Netflix ให้ดูด้วย  ซึ่งถือว่าเป็นการเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสเลยทีเดียว

 

เจ้าของที่พักปล่อยเช่าระยะสั้น (Airbnb Hosts) กลุ่มนี้เองก็ได้รับผลกระทบหนักไม่ต่างจากโรงแรมเลย โดยเฉพาะคนที่ปล่อยเช่าห้องพักในเขตตัวเมืองที่นักท่องเที่ยวต้องใช้ขนส่งสาธารณะ ยิ่งเมืองใดมีการประกาศว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงก็จะได้รับผลกระทบหนักยิ่งขึ้นไปอีก หลายที่จึงปรับจากให้เช่าระยะสั้นเป็นให้เช่ารายปีด้วยราคาพิเศษเพื่อให้อย่างน้อยมีรายได้ประจำเข้ามาหรือลดราคาค่าห้องพักสำหรับลูกค้าชาวต่างชาติที่ยังเดินทางเข้ามาในไทยอย่างกะทันหัน

 

ผู้พัฒนาอสังหาฯ เชิงพาณิชย์ (Commercials) เนื่องจากต้องมีการปิดพื้นที่เสี่ยงในที่มีคนแออัด เพื่อลดการแพร่ระบาด ผู้ทำห้างหลายที่ก็ได้มีมาตรการส่งเสริมให้ผู้ค้าภายในห้างเปลี่ยน platform ไปใช้ช่องทางออนไลน์ที่ทางห้างจัดขึ้นมา หรือจะทำบริการ virtual shopping experience คล้ายๆ google street view ถ่ายภาพภายในพื้นที่ห้าง เพื่อให้ลูกค้าได้ประสบการณ์เสมือนเดินห้างแบบที่ไม่ต้องออกจากบ้าน

 

นักลงทุนอสังหาฯ ระยะสั้น (Speculators) ได้มีการปรับเปลี่ยนตัวเองเป็นนักลงทุนระยะยาวโดยการโอนกรรมสิทธิ์ให้เป็นของตัวเอง รอขายในอนาคตเมื่อสถานการณ์กลับมาดีขึ้น หรือบางนักลงทุนก็ตัดขาดทุน cut loss ขายแบบขาดทุน หรือทิ้งไม้ คือ ยอมให้ยึดเงินจองเงินทำสัญญาและเงินดาวน์ไปเลยแต่ก็มีบางคนที่หัวหมออาศัยช่วงที่โครงการอาจจะยังสร้างไม่เสร็จทันกำหนดการตามสัญญาก็ร่อนจดหมายชิงยกเลิกสัญญาไปก่อน

 

นักลงทุนระยะยาว ซื้อเก็บรอขายอย่างเดียว (Long-term Investors) กลุ่มนี้ไม่ค่อยได้รับผลกระทบมากเท่ากลุ่มอื่น กลับพลิกวิกฤตนี้ให้เป็นโอกาส เพราะคอนโดและบ้านแต่ละโครงการเร่งจัดโปรโมชั่นและออกมาตรการรับมือ Covid-19 ออกมารัวๆ จึงเป็นโอกาสของนักลงทุนระยะยาวที่จะต้องรีบคว้าเอาไว้

 

กลุ่มคนปล่อยเช่า (Landlords) ส่วนใหญ่จะมีการปรับตัวโดยลดค่าเช่าห้องให้ต่ำกว่าคู่แข่งเพื่อดึงดูดลูกค้าใหม่ให้ต้องการมาเช่า และปรับลดค่าเช่าชั่วคราวให้กับผู้เช่าเก่าเพื่อช่วยเยียวยาลดภาระให้แก่ผู้เช่าเก่า ซึ่งเป็นเหมือนการซื้อใจผู้เช่าเก่าไปด้วยเลยก็ว่าได้ ในบางที่ก็ปรับเป็นห้องเช่าสำหรับคนที่ต้องการพื้นที่กักตัวอยู่คนเดียว หรือสำหรับผู้ต้องการ Self-Isolation เพราะมีความจำเป็นต้องออกไปปฏิบัติหน้าที่นอกบ้านและมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ตำรวจ เป็นต้น

 

บริษัทผู้พัฒนาที่อยู่อาศัย (Developers) โดยปัญหาที่กลุ่มนี้จะต้องเผชิญคือ ลูกค้าไม่กล้า Walk in เข้าไปชมโครงการ เนื่องจากกลัวการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ทางบริษัทผู้พัฒนาที่อยู่อาศัยหลายแห่งก็เริ่มมีการจัดโปรโมชั่นและออกมาตรการรับมือ Covid-19 ออกมา เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับลูกบ้านและดึงความสนใจลูกค้าใหม่ อีกทั้งยังมีการใช้สื่อออนไลน์ช่วยขาย ทำคลิปวิดีโอให้ลูกค้ารับชมผ่าน Youtube  แล้วนัดหมายลูกค้าเพื่อ video call กับลูกค้า

 

จะเห็นได้ว่ากลุ่มอสังหาฯนั้นมีความตื่นตัวในสถานการณ์วิกฤตนี้มาก เนื่องจากเป็นปัญหาระดับประเทศที่ไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ แต่ก็ได้มีการปรับตัว รับมือสถานการณ์ได้เป็นอย่างดีในระดับหนึ่ง แต่ถึงอย่างไรก็ตามการปรับตัวนี้จะได้ผลดีหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกฝ่าย ทางคบคิดหวังว่าสถานการณ์วิกฤต Covid-19 นี้จะผ่านพ้นไปด้วยดีในเร็ววัน ทุกๆคนจะได้กลับมาใช้ชีวิตปกติเสียที

 

 



 

 

ความคิดเห็น