ไขข้อสงสัย! Eczema คืออะไร รู้อย่างไรว่าเรากำลังเป็น
เข้าสู่ช่วงหน้าหนาวเช่นนี้ อากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน และฝุ่นควันที่เพิ่มมากขึ้น อาจทำให้หลายคนรู้สึกว่าผิวเริ่มมีอาการระคายเคือง ซึ่งบางรายอาจรุนแรงไปเป็นโรคผิวหนังอักเสบได้เลยทีเดียว บทความนี้เราจะพามารู้จักกันว่า โรคผิวหนังอักเสบ หรือ Eczema คืออะไร และจะมีวิธีสังเกตอย่างไรว่าเรากำลังเป็น เพื่อหาทางรักษาได้อย่างทันท่วงที
Eczema คืออะไร
Eczema หรือที่คนไทยเรียกว่า โรคผิวหนังอักเสบ เป็นภาวะที่ผิวหนังเกิดการอักเสบ คัน และแดง ซึ่งส่วนมากแล้วอาจมาพร้อมกับอาการอื่น ๆ เช่น ผิวแห้ง ตกสะเก็ด เป็นแผลพุพอง หรือมี ตุ่มน้ำใส ๆ ขึ้นบนผิวหนัง ซึ่งต้องบอกว่าโรคนี้เป็นหนึ่งในโรคผิวหนังที่พบได้บ่อย พบได้ทุกเพศทุกวัย แต่มักพบได้บ่อยที่สุดในเด็กเล็กและผู้ใหญ่ตอนต้น ที่มีปัญหาผิวแพ้ง่าย บอบบาง ไวต่อการระคายเคือง
สาเหตุของการเกิด Eczema คืออะไรบ้าง
สาเหตุของการเกิดโรคนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดนักในปัจจุบัน แต่หลัก ๆ แล้วอาจเกิดได้จากการที่ผู้ป่วยมีสภาพผิวที่ไวต่อการระคายเคือง หรือมีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้ และเจอกับสิ่งกระตุ้น เช่น ฝุ่นละออง ควัน เกสรดอกไม้ หรือปัจจัยต่าง ๆ เช่น อากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน รวมถึงการติดเชื้อราบางชนิด ที่ทำให้เกิดโรค Eczema กำเริบขึ้นมาได้
รู้ได้อย่างไรว่าเรากำลังเป็น Eczema
จากที่เราได้รู้กันแล้วว่า Eczema คืออะไร เรามาดูกันว่า อาการของ Eczema คืออะไร เพื่อให้เราได้รู้เท่าทันและรับการรักษาได้อย่างทันท่วงที
อาการของ Eczema อาจแตกต่างกันไปตามประเภทและความรุนแรงของโรค โดยทั่วไปแล้ว อาการที่พบบ่อย ได้แก่
- ผิวหนังแห้ง คันมาก
- ผิวหนังแดง
- ตกสะเก็ด
- เป็นแผลพุพอง
- มีตุ่มน้ำใส ๆ ขึ้นบนผิวหนัง
อาการเหล่านี้มักพบได้บ่อยที่บริเวณใบหน้า และอาจเกิดขึ้นได้ในจุดที่ผิวหนังบอบบาง เช่น ข้อพับแขน ข้อพับขา และในเด็กเล็กอาจเกิดขึ้นบริเวณใบหน้า ลำตัว และขากรรไกร
สัญญาณเตือนอาการ Eczema ที่บอกว่าควรรีบพบแพทย์
มีอาการคันรุนแรงจนรบกวนการนอนหลับหรือการใช้ชีวิตประจำวัน
- ผิวหนังอักเสบอย่างรุนแรงจนลุกลามเป็นวงกว้าง
- ผิวหนังมีการติดเชื้อ เช่น มีหนองหรือมีเลือดออกผิดปกติ
หลังจากที่เราได้รู้กันแล้วว่า Eczema คืออะไร เกิดจากอะไร และมีอาการใดที่บ่งบอกว่าเรากำลังเป็น Eczema เชื่อว่าจะช่วยให้หลายคนที่กำลังเจอกับอาการนี้สามารถรู้เท่าทันและหาวิธีรักษาได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งการรักษาเบื้องต้นก็คือ ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสในบริเวณที่เกิด มองหาผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยน ช่วยมอบความชุ่มชื้น และปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมในลำดับถัดไป