โดรนรักษาความปลอดภัย รปภ.คนใหม่ที่น่าจับตา! 

กลายเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ช่างภาพและช่างวิดีโอในยุคนี้ขาดไม่ได้ไปแล้ว สำหรับอากาศยานไร้คนขับหรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า “โดรน” แต่แท้จริงแล้ว โดรนยังถูกนำมาใช้งานในวัตถุประสงค์อื่น ๆ อีกหลายอย่าง เช่น เทคโนโลยีการเกษตร งานสำรวจ อุตสาหกรรมโลจิสติก อุตสาหกรรมบันเทิง รวมถึงทำหน้าที่เป็น โดรนรักษาความปลอดภัย ซึ่งได้รับการยอมรับจากหลายประเทศทั่วโลกว่าเป็นเทคโนโลยีที่สามารถช่วยเหลือมนุษย์ได้จริง

การทำงานของโดรนรักษาความปลอดภัย

ในอดีต โดรนถูกพัฒนาและนำมาใช้งานครั้งแรกในสงครามโลกครั้งที่ 1 ช่วงปีค.ศ.1918 เพื่อทำภารกิจทางทหารที่อาจอันตรายเกินไปสำหรับมนุษย์จนกลายเป็นอุปกรณ์สำคัญของกองทัพ จากนั้นก็ได้รับการพัฒนาระบบให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น มีลูกเล่นต่าง ๆ เพิ่มเติม และมีศักยภาพทางการบินสูงขึ้น รวมทั้งมีการติดตั้งระบบ GPS จึงทำให้เกิดโดรนรักษาความปลอดภัยขึ้น เพื่อใช้ตรวจตรา ดูแลความปลอดภัย รวมไปถึงให้ความช่วยเหลือกับผู้ที่กำลังตกอยู่ในอันตราย นิยมใช้กันทั้งในครัวเรือน หน่วยกู้ภัย ไปจนถึงองค์กรของภาครัฐอย่างตำรวจและทหาร สำหรับการทำงานของโดรนรักษาความปลอดภัยในบ้านนั้น มีเซนเซอร์ที่ติดตั้งเอาไว้เป็นองค์ประกอบสำคัญ หากมีความเคลื่อนไหวเกิดขึ้น โดรนจะบินไปยังจุดต้องสงสัยและถ่ายทอดสดภาพเหตุการณ์ในขณะนั้นไปที่โทรศัพท์มือถือของเจ้าของบ้านที่เชื่อมต่อไว้ หากไม่มีเหตุการณ์ผิดปกติ โดรนก็จะบินกลับฐานเก็บโดยอัตโนมัติ เพียงเท่านี้
เจ้าของบ้านก็จะมั่นใจว่าบ้านของตัวเองปลอดภัยโดยไม่ต้องให้ใครมาคอยดูแลตลอดเวลาแล้ว

อีกขั้นของนวัตกรรม โดนรักษาความปลอดภัยแบบไร้ GPS

แม้ว่าโดรนจะเป็นอุปกรณ์สารพัดประโยชน์ สามารถบินไปได้ทุกหนทุกแห่งแบบไม่ต้องเปลืองแรงมนุษย์ แต่ในบางพื้นที่ GPS ก็อาจเข้าไปไม่ถึง ทำให้โดรนไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2021 จึงมีการทดสอบโดรนไร้ GPS เป็นครั้งแรกที่ Yeruham พื้นที่สำหรับทดสอบโดรนในประเทศอิสราเอล ซึ่งสำเร็จไปด้วยดี โดยโดรนแบบไม่มี GPS จะใช้เซนเซอร์ภาพรักษาสมดุลระหว่างขึ้นบิน ใช้เซนเซอร์หลบสิ่งกีดขวางเพื่อให้รู้ตำแหน่งและลงจอดได้แม่นยำ และใช้ SLAM หรือระบบเขียนแผนที่ขณะบิน
เพื่อสร้างภาพสิ่งแวดล้อมขณะที่โดรนกำลังบินอยู่ได้แบบ Real time โดยไม่ต้องใช้สัญญาณ GPS ในอนาคต โดรนแบบไร้ GPS จะมีบทบาทสำคัญมากในการรักษาความปลอดภัย เข้าถึงพื้นที่ที่อับสัญญาณได้ทุกแห่ง และทำให้ระบบป้องกันภัยทำงานได้ครอบคลุมขึ้น ซึ่งเหมาะกับสถานการณ์เหล่านี้เป็นอย่างยิ่ง

● เหตุฉุกเฉินในอาคารและพื้นที่ปิด เพราะ GPS ไม่สามารถทำงานได้ในพื้นที่ปิด เช่น หม้อไอน้ำ ถังเก็บ เหมืองใต้ดิน

● ภารกิจกู้ภัยและค้นหาผู้สูญหายที่สภาพแวดล้อมเป็นอุปสรรค เช่น ภารกิจค้นหาบุคคลสูญหายในป่าทึบ มีต้นไม้หนาแน่น

● สถานที่เกิดภัยพิบัติ เต็มไปด้วยซากปรักหักพังและสิ่งกีดขวางที่ขัดขวางสัญญาณ GPS อยู่

ความคิดเห็น