โปรดทราบ! คุณกำลังอ่านเนื้อหาจากเว็บไซต์เก่า ลิงก์หรือการใช้งานอื่นๆจะไม่สามารถใช้งานได้
คลังกลับลำไม่โอนที่ดินมักกะสันล้างหนี้ ติดปมกม.รถไฟฯปัดฝุ่นแผนพัฒนาเอง
ลงเมื่อ 04-12-2016 19:51:25
คลังกลับลำไม่เอาที่ดินมักกะสันแลกหนี้ ร.ฟ.ท. "ออมสิน" เตรียมหารือธนารักษ์ ขอความชัดเจนก่อน ยันร.ฟ.ท.พร้อมปัดฝุ่นการศึกษาเดิมเพื่อพัฒนาเอง วงในเผยโอนธนารักษ์พัฒนาที่ดินรถไฟซึ่งเวนคืนมานั้น ส่อประเด็นข้อกฎหมาย ขณะที่ส่งแผนพัฒนา สถานีแม่น้ำ และบางซื่อแปลง A ไปยังสคร.แล้ว รอ PPP เคาะเปิดประมูล

นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึง การโอนสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินมักกะสัน จำนวน 497.11 ไร่ ให้กระทรวงการคลังเพื่อ ชำระหนี้ 6.1 หมื่นล้านบาท ตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด ว่า ล่าสุด ทาง อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีแนวคิดว่าไม่อยากให้โอนแล้ว เนื่องจากโอนให้แล้วทางคลังจะต้องจ้างคนอื่นมาพัฒนาต่อ ขณะที่หากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) มีความพร้อมควรจะทำเอง ซึ่งเรื่องนี้ นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ จะมาหารือกับตน และ ร.ฟ.ท. ในเร็วๆ นี้เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันให้ชัดเจน
ทั้งนี้ ในส่วนของ ร.ฟ.ท.ไม่มีปัญหาในการพัฒนาที่ดินมักกะสันเอง เพราะ ก่อนหน้านี้ ได้เคยมีการศึกษาแผนงานพัฒนาที่ดินมักกะสันไว้แล้ว ซึ่งจะมี พื้นที่สวนสาธารณะประมาณ 100 ไร่ และพัฒนาบึงมักกะสันให้เกิดความสวยงาม จนกระทั่งแนวคิดในเรื่องการโอนให้กรมธนารักษ์ ทำให้ยุติแผนดังกล่าว ดังนั้น หากจะให้ ร.ฟ.ท.ทำเองเหมือนเดิม สามารถ นำผลการศึกษาเดิมออกมาปัดฝุ่นได้
"เรื่องโอนที่ดินมักกะสันให้คลังเพื่อชำระหนี้นั้นเป็นมติ คนร. แต่หากจะไม่ให้โอนแล้ว ก็ต้องมาหารือร่วมกันว่า การ รถไฟฯจะพร้อมหรือไม่ ขณะนี้ในส่วนการพัฒนาพื้นที่แปลงใหญ่ เช่น สถานีแม่น้ำ 77.5 ไร่ มูลค่าประมาณ 13,317.24 ล้านบาท และบางซื่อแปลง A ของการรถไฟฯ นั้นได้ส่งเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรม- การนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อเข้าสู่คณะกรรมการ PPP แล้ว"
รายงานข่าวแจ้งว่า การโอนที่ดินมักกะสันให้คลังเพื่อชำระหนี้นั้นเป็นนโยบายซึ่งเมื่อมีการตรวจสอบในหลายประเด็นพบว่าติดประเด็นข้อกฎหมาย ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความในข้อกฎหมาย ร.ฟ.ท.แล้วว่า สามารถนำที่ดินเวนคืนมาเพื่อกิจการรถไฟไปใช้กิจการอื่นหรือพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ แต่กรณีการโอนให้กรมธนารักษ์ แล้วจะต้องตีความตามกฎหมายของกรมธนารักษ์ในการนำที่ดินไปใช้ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์เดิม ได้หรือไม่ ซึ่งยังไม่ชัดเจน ซึ่งทำให้เกิดปัญหาในการรับโอนไป อย่างไรก็ตาม หากสรุปไม่โอนที่มักกะสัน จะต้องหารือในประเด็นหนี้สินของ ร.ฟ.ท.ว่าจะทำอย่างไรต่อไป
ส่วนโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ส่วนต่อขยาย ช่วงพญาไทบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 21.8 กม. วงเงิน 31,139.35 ล้านบาท นั้น กระทรวงคมนาคมเตรียมเสนอ สคร.เร็วๆ นี้ โดยได้ศึกษาแนวทางการร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP-Net Cost ใน 2 รูปแบบ คือ
1. รัฐลงทุนงานโครงสร้างพื้นฐาน งานโยธา วงเงินกว่า 20,000 ล้านบาท ส่วนเอกชนลงทุนวางราง จัดหาระบบอาณัติสัญญาณและตัวรถ พร้อมเดินรถ วงเงินกว่า 10,000 กว่าล้านบาท
2. ให้เอกชนลงทุน 100% ทั้งงานโยธาและระบบรถ ทั้งนี้ ในการร่วมลงทุนจะไม่มีเงื่อนไขการันตีเรื่องจำนวน ผู้โดยสาร ตามที่ภาคเอกชนเสนอจากการสัมมนาเพื่อประเมินความสนใจของภาคเอกชน (Market Sounding)เพราะรัฐจะไม่รับภาระเพิ่ม เนื่องจากก่อนหน้านี้ ได้ลงทุนโครงสร้างส่วนแรก ช่วงพญาไทมักกะสัน-สุวรรณภูมิไปแล้ว80 บริษัทชั้นนำโชว์เทคโนโลยีด้านระบบราง
โดยวานนี้ (1 ธ.ค.) นายออมสินได้ เป็นประธานเปิดงาน Smart Rail Asia & Transport Infrastructure Asia 2016 ที่สถานีมักกะสัน รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ว่าเป็นการรวบรวมผู้ผลิต และเทคโนโลยีด้าน ระบบราง ทั้งรถไฟ รถไฟฟ้า ผู้ให้บริการระบบ ไอที สื่อสาร ระบบอาณัติสัญญาณ ซึ่งปีนี้จัด ในปีที่ 5 ระหว่างวันที่ 1-2 ธันวาคม 2559 โดยมี 80 บริษัททั่วโลกนำเทคโนโลยีมาแสดง ซึ่งนโยบายของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อยากให้มีการผลิตในประเทศ หรือนำเข้าชื้นส่วนมาประกอบในประเทศ ไม่ใช่ซื้อหรือนำเข้าอย่างเดียว ซึ่งเบื้องต้นจะเป็นการผลิตโดยใช้ผลิตภัณฑ์ในประเทศ เช่น ราวจับ เบาะที่นั่ง กระจกของตู้รถไฟ เป็นต้น ซึ่งหากสามารถพัฒนาไปสู่จุดนั้นได้ จะสามารถลดต้นทุนการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า ได้ และทำให้ เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในประเทศ
ที่มา ผู้จัดการรายวัน 360 องศา
วันที่ 2 ธันวาคม 2559

สมัครสมาชิก

อ่านเงื่อนไขการให้บริการ Terms & Conditions และ Privacy Policy
ยอมรับ และลงทะเบียนเพื่อสมัคร
ยอมรับ และสมัครง่าย ๆ ด้วย facebook